xs
xsm
sm
md
lg

Q&A corner : อายุกับความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถาม - เคยได้ยินมาว่า ถ้าอายุน้อยๆ ควรลงทุนในหุ้นมากๆ ได้ แต่ถ้าอายุมากๆ ไม่ควรลงทุนในหุ้น ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ อย่างไร V

ตอบ - ตามความเป็นจริงนะครับ การลงทุน คือ ทางเลือกในการบริหารเงินออมที่มีอยู่ ให้งอกเงย ตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่ตัวเองได้ตั้งเอาไว้ ในขอบข่ายของความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ หากเสี่ยงมากก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมาก เสี่ยงน้อยก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนน้อย

ดังนี้นะครับ ก่อนพิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุน ผู้ลงทุนต้องถามตัวเองก่อนว่า จะวางเป้าหมายการลงทุนไว้อย่างไร แล้วยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั้นนอกจากนิสัยใจคอ หรือความชอบส่วนตัวแล้ว ก็ยังมี อายุ ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ฐานะการเงินในปัจจุบัน ความสามารถในการหารายได้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งว่า ณ ตอนนี้เรามีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเพียงพอแล้วหรือยัง เหล่านี้เป็นต้น

แนวทางการลงทุนแบบกลางๆ โดยอ้างอิงกับสมมติฐานในลักษณะของคนทั่วๆ ไปเกี่ยวกับปัจจัยและข้อจำกัดในการลงทุน ในแต่ละช่วงอายุของคนเรา มีดังต่อไปนี้ (ข้อมูลอ้างอิงจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)

- อายุ 21-30 ปี เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบมากนัก และเป็นวัยที่ยังมีเวลาและมีกำลังในการหารายได้อีกนาน ดังนั้น คนในช่วงวัยนี้จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงได้เกือบทั้งหมด เพราะอยู่ในวัยที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มาก และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็มีเวลามากเพียงพอที่จะเรียนรู้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้น โดยอาจจะลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น

- อายุ 31-40 ปี เป็นวัยที่การงานเริ่มมั่นคง รายได้เพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมาเป็นทวีคูณ เพราะ อยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ เมื่อมีภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบมากและต่อเนื่อง ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ลดน้อยลง การลงทุนของคนในวัยนี้จึงอาจจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นลงจาก 90% ให้เหลือเพียง 50% ของเงินออม แล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ให้มากขึ้นในจำนวนที่เท่าๆ กัน

- อายุ 41-55 ปี เป็นวัยที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงไม่แพ้กัน การลงทุนของคนในวัยนี้ควรเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่มเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก เพื่อจะได้เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามชรา แต่อย่างไรก็ดี ไม่ควรละเลยการลงทุนในตราสารทุนไปซะเลยทีเดียว เพียงแต่ต้องลดสัดส่วนลงเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนให้งอกเงยนอกเหนือจากดอกเบี้ยและเงินปันผลนั่นเอง สัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนของคนในวัยนี้ คือ 70% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ อีก 30% ลงทุนในตราสารทุน โดยอาจแบ่งการลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีด้วยก็ดี เนื่องจากคนในวัยนี้ต้องแบกรับภาระภาษีค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากมีรายได้ที่สูงนั่นเอง

- อายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นวัยเกษียณที่แทบจะไม่มีรายได้แล้วสำหรับบางคน แต่ยังคงจับจ่ายใช้สอยอยู่เช่นเดิม แม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวันจะเริ่มลดน้อยลง แต่กลับต้องสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพ ดังนั้น เงินออมเกือบทั้งหมดในชีวิตควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า หากพิจารณาการลงทุนจากข้อจำกัด หรือปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วๆ ไป ดังที่กล่าวมาในข้างต้น ก็ไม่ผิดไปจากที่คุณผู้ถามได้ยินได้ฟังมานั่นคือ คนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อย สามารถจะลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงได้เป็นสัดส่วนที่สูง ส่วนคนที่มีอายุมากแล้ว การลงทุนควรจะจัดสรรไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำจะดีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ลงทุนจะปฏิบัติแตกต่างไปจากนี้ไม่ได้ เพราะถ้าหนุ่มสาว ท่านใดไม่ชื่นชอบความเสี่ยง การที่เขาจะไปลงทุนในหุ้นเป็นส่วนมาก ก็จะไม่สอดคล้องกับลักษณะและอุปนิสัยของตน ส่วนผู้ลงทุนท่านใดที่แม้จะสูงวัย แต่มีทรัพย์สินสะสมไว้มากเพียงพอแล้วจะใจกล้าสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มาก นำเงินไปลงทุนในหุ้นก็คงไม่ผิดแปลกแต่อย่างใด

ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจเลือกลงทุน อย่าลืมสำรวจความพร้อมของตัวเองให้ครบทุกๆ ด้าน แล้วนำมาประมวลผลดูว่า เงินออมที่มีอยู่นั้น ควรนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ใดในสัดส่วนและจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย และไม่ผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายที่วางเอาไว้ครับ

อย่างไรก็ตามครับ การลงทุนมีความเสี่ยง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนกับกองทุนรวม ต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนนะครับ สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ข้อความไว้ที่หน้า กองทุนรวม www.manager.co.th ทางเรายินดีที่จะตอบคำถามให้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น