xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ต่อยอดกองบอนด์กิมจิ-เดนมาร์ก ลงทุน1ปีป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเต็ม100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศยังฮอต บลจ.เดินหน้าส่งกองทุนลุยตลาดต่อเนื่อง "กรุงไทย-นครหลวงไทย" ขายบอนด์เกาหลีใต้ ลงทุน 12 เดือน ให้ผลตอบแทน 4.30% ด้าน "ยูโอบี" สานต่อกองทุนเดนมาร์ก คลอดกองทุนที่ 2 ลงทุนตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีรัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดิม
นายสมชัย บุญนำศิริ
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่าย กองทุนรวมกรุงไทยตราสารภาครัฐต่างประเทศ 12 เดือน5 (KTGF12M5 ) ในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม -7 เมษายน อายุโครงการ 1 ปี มูลค่า 3,000 ล้านบาท เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในตราสารการเงินในประเทศเกาหลีใต้ ประเภท Euro Commercial Paper (ECP) /Euro Medium Term Note (EMTN) ที่ออกโดยสถาบันการเงินภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นในอันดับสูงสุด คือ A1 โดย S&P และ F1 โดย Fitch

โดยกองทุนจะลงทุนใน Export - Import Bank of Korea และ Korea Development Bank ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 50 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่งผลให้กองทุนได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 4.30 %ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้ว รวมถึงเงินลงทุนจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

นายสมชัยกล่าวต่อไปว่า สถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง ที่กองทุนลงทุนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ เป็นกลไกที่สำคัญของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการดำเนินนโยบายต่างๆ (Policy Bank) โดยปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีใต้ถือหุ้นใน Export - Import Bank of Korea และ Korea Development Bank ทั้ง100%

สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนการลงทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตลดลง และการแข็งค่าของเงินบาทในตลาดล่วงหน้า ทำให้ผลตอบแทนเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลบาทปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ สูงกว่าการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศที่มีระดับความเสี่ยงใกล้เคียงกัน และหากคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้านี้ จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้ในประเทศปรับตัวลดลงอีกเช่นกัน
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ จะเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ FIF ใหม่ กองทุนเปิดเอสซีไอ ตราสารหนี้ต่างประเทศ จีไอ 12M7/09 (SCI INGI12M7/09) ต่อจากอาทิตย์ที่แล้วอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดย The Export-Import Bank of Korea (KEXIM) ประมาณ 95% ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ใน 2 อันดับแรก และส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝากธนาคารพาณิชย์ อายุโครงการประมาณ 12 เดือน ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 4.30% ต่อปี

โดยแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐวิสาหกิจของประเทศเกาหลีใต้ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมากขึ้นหลังจาก บลจ.นครหลวงไทย ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารประเภทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายกองทุนเกาหลี 12 เดือน หลังจากที่ปิด IPO ไป กองทุนมียอดขายเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้มาก สำหรับภาวะการณ์ตลาดเงินประเทศเกาหลีใต้นั้น ขณะนี้ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารภาครัฐ หรือ ธนาคารรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ มีแนวโน้มลดลงตลอด 1- 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา โดยดูจากต้นทุนการกู้ยืมเงินของธนาคารต่าง ๆ ตลอดจนความเสี่ยงของประเทศเกาหลีใต้ ( ตลาด, ความเสี่ยงทางด้านเครดิต หรือ CDS market ) มีทิศทางที่ลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินวอนเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ภาวะตลาดทุนของประเทศเกาหลีใต้ นักลงทุนต่างประเทศเริ่มไหลกลับเข้าประเทศเกาหลีใต้อีกครั้งตั้งแต่ต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2551

ทั้งนี้ กองทุนมีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท เสนอขาย IPO ตั้งแต่วันที่ 1-7 เมษายน 2552 นี้ มูลค่าขั้นต่ำของกองทุนเพียง 2,000 บาท ราคา 10 บาทต่อหน่วยลงทุนโดยลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้รับ

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดขายกองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอจี 12/2 (UOBFIG 12/2) มูลค่าโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 1 ปี ซึ่งจะลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ออกโดยธนาคาร Danske และมีรัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ค้ำประกันตราสาร โดยได้เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียวตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2552 และมีมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท

สำหรับกองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอจี 12/2 เป็นกองทุนเปิดตราสารหนี้ ประเภทลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund) รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เพื่อคืนเงินลงทุน และผลตอบแทนทั้งหมดก่อนวันสิ้นอายุโครงการ 2 วัน ซึ่งจะเน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีรัฐบาลต่างประเทศเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedged) ส่วนที่เหลือเงินจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และสถาบันการเงิน หรือเงินฝากในประเทศ

ทั้งนี้ บลจ.ยูโอบี ประเมินสถานการณ์การลงทุนของประเทศเดนมาร์กว่า เดนมาร์กเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภ่าวะเศรษฐกิจโลกโดยตรง อาทิ นอร์เวย์ เยอรมนี สวีเดน รัสเซีย และจีนยังคงเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงไม่เกิน 0.5%

ขณะเดียวกัน จากรายงานของ IMF Data and Statistics ระบุเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ว่าตัวเลขประมาณการณ์ GDP per Capita ของเดนมาร์กอยู่ในอันดับ 4 ของโลกจากทั้งหมด 179 ประเทศ อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 16 ประเทศจาก 106 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ (Credit Rating) ที่ระดับ AAA โดยสถาบัน Fitch Rating อีกด้วย และกองทุนจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน โดยสถาบัน Fitch Rating ยังคงมีมุมมองคงอันดับความน่าเชื่อถือของเดนมาร์กไว้ที่ระดับเดิมที่ AAA ซึ่งตราสารที่กองทุนออกเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ทำให้ไม่มีความเสี่ยงจากการที่รัฐบาลจะใช้นโยบายเพื่อป้องกันการเทขายสกุลเงินในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น