xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนแบบรุกและรับโดยการกระจายความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล CFA
ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
อีเมล์ : arunsak@scbq.co.th

นักลงทุนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำว่า “การกระจายความเสี่ยง” หรือ diversification ไม่ว่าจะจากหนังสือการลงทุนทั่วๆไป จากโบรกเกอร์ หรือจากข่าวสารการลงทุนในช่องทางต่างๆ แต่เชื่อว่าความเข้าใจในความหมายของ diversification และการนำมาใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเน้นหนักในเชิงรับคือเพื่อลดความเสี่ยง บทความต่อไปนี้เป็นการพูดถึง diversification ในแง่การลงทุนเชิงรุกเพื่อเพิ่มผลตอบแทนมากกว่า

นักลงทุนจำนวนมากเข้าใจว่า ประโยชน์หลักของ diversification ได้แก่ การป้องกันความเสี่ยงของการลงทุนด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตราสารทุน diversification ถูกนำไปกล่าวอ้างถึงค่อนข้างบ่อยมากจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น buzz word ของหัวข้อการลงทุนในทุกๆ เรื่องเลยทีเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วประโยชน์ของ diversification ไม่ได้มีมากอย่างที่เข้าใจกัน รวมถึงไม่ได้ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนเหมือนอย่างที่คนทั่วไปคิด ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงมากกว่า 100 จุด จากการเทขายของนักลงทุน อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลต่อผลกระทบของมาตรการกันเงินสำรอง 30% ของนักลงทุนต่างชาติของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนให้เห็นว่า การ diversification ไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเรื่องการป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงของตลาดโดยรวม (market risk) ไม่ว่าคุณจะมีหุ้น 5 ตัวหรือ 50 ตัว ก็เจ๊งได้พอๆ กัน

ในความเป็นจริงแล้ว diversification ควรจะถูกกล่าวถึงในมุมมองของการปรับปรุงหรือช่วยเพิ่มโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนมากกว่าการช่วยป้องกันความเสี่ยง diversification หมายถึงการเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆ อุตสาหกรรม หรือมี exposure ต่อภาวะเศรษฐกิจ/ภาวะตลาดทุนในช่วงวงจรต่างๆกัน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรของการลงทุนมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือช่วยไม่ให้นักลงทุนตกรถไฟในกรณีที่หุ้นขึ้นรายตัวหรือรายอุตสาหกรรมในภาวะขาขึ้นนั่นเอง

Diversification ที่ดีไม่ได้หมายถึงการซื้อหุ้นมากกว่า 1 ตัว เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเลือกซื้อหุ้นในหลายๆ อุตสาหกรรมเพื่อมี exposure ต่อความเสี่ยงของอุตสาหกรรมต่างๆด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเลือกซื้อหุ้น 4 ตัวพร้อมกัน คือ BBL, KBANK, SCB, KTB ซึ่งเป็นหุ้นธนาคารชั้นนำที่ดีและมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นการ diversification ที่ดี เนื่องจากหุ้นทั้ง 4 ตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นการเลีอกลงทุนในหุ้นธนาคาร 1 ตัว หุ้นพลังงาน 1 ตัว หุ้นอสังหาริมทรัพย์ 1 ตัวและหุ้นสื่อสาร 1 ตัว น่าจะเป็นกลยุทธ์ diversification ที่เหมาะสมกว่า เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ในช่วงเวลาของภาวะเศรษฐกิจต่างๆกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆกันด้วย

อย่างไรก็ดี มุมมองของ diversification ในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงก็ยังคงมีประโยชน์ต่อนักลงทุนอยู่ แต่การใช้ประโยชน์ของมันไม่ควรถูกใช้ในเรื่องของการช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้มากที่สุด (maximize return) แต่ควรถูกนำมาใช้ในแง่ของการป้องกันเงินต้น (principal protection) มากกว่า

กลยุทธ์ง่ายๆ ในการป้องกันเงินต้นโดยใช้ diversification ได้แก่  การลงทุนในตราสารหนี้หรือตลาดเงิน และใช้ดอกเบี้ยทั้งหมด หรือบางส่วนลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยง อาทิเช่น ตราสารทุน ในกรณีนี้เงินลงทุนหรือเงินต้นของนักลงทุนจะไม่มีความเสี่ยงต่อการลดค่าลงเลย ตราบเท่าที่นักลงทุนถือครองตราสารหนี้ดังกล่าวจนครบอายุ

อีกรูปแบบหนึ่งของ diversification แบบง่ายๆ ได้แก่ การแบ่งเงินต้นไปลงทุนทั้งในตราสารหนี้ discount ระยะยาว และสินทรัพย์เสี่ยง ตัวอย่างเช่น นักลงทุนมีเงินต้น 100 บาท อาจจะแบ่งเงิน 80 บาทไปซื้อตราสารหนี้ discount ที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท เมื่อถือตราสารหนี้ดังกล่าวจนครบอายุ ส่วนเงินลงทุนอีก 20 บาท สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้ก็เช่นกันที่เงินลงทุนของนักลงทุนจะไม่มีความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินต้นเลย

แต่ทั้ง 2 กลยุทธ์ข้างต้นก็มีข้อเสียคือ เงินลงทุนจะถูกล็อค หรือกำหนดอัตราผลตอบแทน ซึ่งได้แก่ อัตราดอกเบี้ย ไว้ตั้งแต่แรก นักลงทุนจะไม่ได้ประโยชน์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้ ถ้าเงินลงทุนในส่วนสินทรัพย์เสี่ยงเกิดภาวะขาดทุนจำนวนมาก เงินต้นทั้งหมดของนักลงทุนจะเปรียบเสมือนว่า ไม่ได้มีการลงทุนเลย อย่างไรก็ตาม ถ้านักลงทุนมีการวิเคราะห์และการเลือกหลักทรัพย์รายตัวที่ดี รวมถึงมีการตั้งเกณฑ์ของการจำกัดความเสี่ยงไว้ (อาทิเช่น stop loss) ข้อเสียดังกล่าวก็จะลดน้อยลงไป

โดยสรุปก็คือ diversification ยังคงมีความสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้มากขึ้น รวมถึงช่วยป้องกันความเสี่ยงของการลงทุน อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรจะระลึกไว้ว่า diversification ช่วยควบคุมความเสี่ยงไม่ใช่กำจัดความเสี่ยงโดยสิ้นเชิง

กำลังโหลดความคิดเห็น