คอลัมน์ จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล CFA
ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
อีเมล์ : arunsak@scbq.co.th
Keynesian Economics หรือ Keynesian Theory ถูกพูดถึงทางสื่ออยู่บ่อยครั้งในแง่ของทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้ ณ ขณะนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือชะลอการถดถอยของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย) Keynesian Theory เป็นทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่เน้นการใช้การขับเคลื่อนทางอุปสงค์ (Demand Driven Side) มากกว่าการพึ่งพาภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ (Supply Side) เพื่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมักจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านการใช้จ่ายที่สำคัญๆเพื่อเพิ่มการเติบโตของ GDP บวกกับการกำกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง อาทิเช่นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนในช่วงเวลาต่างๆตลอดวงจรเศรษฐกิจ (Business Cycle) มาตรการของรัฐบาลไทยในการแจกเงิน 2,000 บาทสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ใช้ Keynesian Theory เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
Keynesian Theory
สิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ Keynesian Theory เพื่อดึงเศรษฐกิจออกจากภาวะถดถอยได้แก่การกระตุ้นปัจจัยทางอุปสงค์เพื่อให้เกิดกำลังซื้อของประชาชนซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่นๆอย่างเช่นการจ้างงานหรือการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ลูกจ้างเกิดรายได้มากขึ้น เป็นวงจรไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า Multiplier Effect ซึ่งข้อดีของมันคือ ในการกระตุ้นดังกล่าวอาจจะใช้เงินเริ่มต้นเพียง 2,000 บาท แต่ถ้าจุดติดขึ้นมาจนเกิดความเชื่อมั่นของภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น (แม้ในช่วงสั้น) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องอาจจะขยายทวีคูณเป็นมูลค่า 20,000 บาท หรือ 200,000 บาทได้
โดยทั่วไปตามทฤษฎีแล้ว ผู้ผลิตจะตัดสินใจจ้างคนหรือลงทุนเพิ่มก็ต่อเมื่อเกิดความต้องการซื้อสินค้าจากผู้ซื้อที่มากกว่ากำลังการผลิตสูงสุดที่มี อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงธุรกิจอาจจะไม่ได้ทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้บริโภคเกิดความรู้สึกทางจิตวิทยาถึงความไม่แน่นอนของรายได้เนื่องจากการคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง การเริ่มต้นของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession or Depression) จะเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการตัดค่าใช้จ่ายทั้งในชีวิตประจำวัน (อาหาร การเดินทาง ความฟุ่มเฟือย) และในสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ (รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า) เพื่อประหยัดเงินไว้รองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ สิ่งที่จะตามมาคือผู้ผลิตจะหยุดการขยายการลงทุน ลดกำลังการผลิต ลดการสั่งซื้อวัตถุดิบ และปลดคนงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย สิ่งที่เลวร้ายต่อมาคือคนงานที่ถูกเลิกจ้างก็จะทำการลดค่าใช้จ่ายของตนเองเพิ่มมากขึ้น อุปสงค์สินค้าต่างๆก็จะลดน้อยลงไปอีก การเลิกจ้างก็จะมากขึ้น ฯลฯ กลายเป็นวงจรกลับไปมาที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ (Vicious Cycle)
สูตรสำเร็จการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุปทานแบบดั้งเดิม = ลดดอกเบี้ย+ลดภาษี: ที่อาจจะไม่ได้ผลสำหรับรอบนี้
ในช่วงเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ไม่ดี ธนาคารกลางมักจะนำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาใช้ เช่นการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้กับธุรกิจเอกชนและหวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมจากภาระดอกเบี้ยที่ถูกลง ในส่วนของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงอาจจะช่วยจูงใจให้เกิดการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ชิ้นใหญ่มากขึ้น เช่นบ้านและที่ดินรวมถึงการใช้จ่ายที่มากขึ้นจากเงินออมที่มีเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง
ปัญหาที่อาจทำให้การใช้มาตรการทางการเงินดังกล่าวไม่ได้ผลคือ ผู้บริโภคซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเกิดความไม่มั่นใจทำให้ไม่กล้าใช้จ่ายเงินแม้ว่าจะสามารถกู้ได้ที่ราคาถูก หากผู้บริโภคไม่ใช้จ่าย กิจกรรมต่อเนื่องที่จะช่วยให้เกิดการขยายตัวก็ไม่เกิด สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังไว้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดผลไม่เต็มร้อย รัฐบาลอาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมทางด้านอุปทานอย่างเช่นการลดภาษีให้กับภาคธุรกิจโดยหวังว่าผู้ผลิตจะมีเงินสดมากขึ้นทำให้ช่วยลดการปลดคนงานนั้นอาจจะล้มเหลวก็ได้หากนายจ้างยังคงกังวลเพราะไม่มีผู้ซื้อ ทำให้เก็บเงินสดที่ได้เป็นสภาพคล่องสำรองมากกว่านำมาใช้จ่าย
แจกเงินให้กับผู้ที่ต้องใช้จริงๆ
วิธีการแก้ปํญหาในกรณีข้างต้นได้แก่ รัฐบาลจำต้องเข้ามาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายโดยตรง นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐในแง่ของการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค (Infrastructure) แล้ว อีกวิธีหนึ่งง่ายๆที่รัฐบาลหลายๆประเทศกำลังดำเนินการอยู่รวมถึงไทยด้วยได้แก่ การแจกเงินแบบให้เปล่ากับผู้ที่ตกงานไม่มีรายได้ หรือผู้ที่จะต้องใช้จ่ายเงินที่แจกไปแน่ๆ หรือจะให้ในรูปของการจ้างงานโดยรัฐบาล ซึ่งแน่นอนมาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องระมัดระวังก็คือ การนำเงินดังกล่าวไปใช้ไม่ตรงกับจุดประสงค์รัฐบาลโดยเฉพาะการนำไปออมแทนที่จะนำไปใช้จ่าย หากการให้เงินดังกล่าวของรัฐกระจัดกระจายมากเกินไป โดยมีการแจกเงินให้กับผู้ทีมีฐานะดีอยู่แล้วหรือผู้ที่ไม่มีความเดือดร้อนทางการเงิน มาตรการดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลก็ได้เนื่องจากเงินดังกล่าวแทนที่จะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็จะไปสงบแน่นิ่งอยู่ในบัญชีออมทรัพย์แทน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำนอกเหนือจากการแจกเงินแล้ว ได้แก่ การกระตุ้นให้เกิดการนำเงินดังกล่าวที่ได้ไปใช้จ่ายจริง อาจจะอยู่ในรูปของการประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับเงินเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการให้เงิน (ประมาณว่าช่วยใช้เงินเพื่อชาติ) หรือการให้แรงจูงใจในการใช้เงินจำนวนนี้ อาทิเช่น แทนที่จะให้เงินสด ก็ให้ในรูปของคูปองที่มีวันหมดอายุ หรือแม้แต่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้เงินเสียใหม่สำหรับการแจกเงินคราวหน้า (ถ้ามี) ให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ อย่างเช่น คนตกงาน บุคคลล้มละลาย ผู้ปกครองที่มีลูกหลายคน หรือแม้แต่ผู้ที่มีภาระผ่อนบ้านอยู่ เป็นต้น
แจกเงินให้กับผู้ที่จะใช้จ่ายสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Buy Thailand) จริงๆ
สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง ได้แก่ เงินที่ประชาชนได้ดังกล่าวต้องถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศจริงๆ กรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นคือ เงินสดที่ได้ดังกล่าวแทนที่จะช่วยในการซื้อขายสินค้า Made In Thailand เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจของไทย อาจจะกลับกลายเป็นว่าเงินดังกล่าวจะไหลไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอื่นแทน อย่างเช่น หากผู้ได้เงินนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น ประเทศจีนอาจจะได้รับอานิสงค์แทนหากคนไทยนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากประเทศจีน หรือนำเงินไปบริโภคน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งผลก็คือ Multiplier Effect ที่คาดหวังสำหรับธุรกิจภายในประเทศอาจจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การชะลอการปลดคนงาน การจ้างงานเพิ่มหรือการขยายการลงทุนในภาคธุรกิจอาจจะไม่เกิดขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น คือ รัฐบาลควรที่จะสร้างหรือเสาะหา (อย่างเร็ว) ถึงแหล่งสินค้าที่อาจจะใช้แทนสินค้านำเข้าได้ (ฟังดูเหมือนการกีดกันทางการค้า) หรือการแจกคูปองที่ระบุสินค้าที่สามารถซื้อได้จากแหล่งที่ระบุเฉพาะเจาะจงโดยเน้นสินค้าที่ผลิตในประเทศ อาทิเช่น ข้าวสารหรือผลไม้จากสหกรณ์ต่างๆ ร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล CFA
ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
อีเมล์ : arunsak@scbq.co.th
Keynesian Economics หรือ Keynesian Theory ถูกพูดถึงทางสื่ออยู่บ่อยครั้งในแง่ของทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้ ณ ขณะนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือชะลอการถดถอยของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย) Keynesian Theory เป็นทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่เน้นการใช้การขับเคลื่อนทางอุปสงค์ (Demand Driven Side) มากกว่าการพึ่งพาภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ (Supply Side) เพื่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมักจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านการใช้จ่ายที่สำคัญๆเพื่อเพิ่มการเติบโตของ GDP บวกกับการกำกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง อาทิเช่นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนในช่วงเวลาต่างๆตลอดวงจรเศรษฐกิจ (Business Cycle) มาตรการของรัฐบาลไทยในการแจกเงิน 2,000 บาทสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ใช้ Keynesian Theory เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
Keynesian Theory
สิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ Keynesian Theory เพื่อดึงเศรษฐกิจออกจากภาวะถดถอยได้แก่การกระตุ้นปัจจัยทางอุปสงค์เพื่อให้เกิดกำลังซื้อของประชาชนซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่นๆอย่างเช่นการจ้างงานหรือการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ลูกจ้างเกิดรายได้มากขึ้น เป็นวงจรไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า Multiplier Effect ซึ่งข้อดีของมันคือ ในการกระตุ้นดังกล่าวอาจจะใช้เงินเริ่มต้นเพียง 2,000 บาท แต่ถ้าจุดติดขึ้นมาจนเกิดความเชื่อมั่นของภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น (แม้ในช่วงสั้น) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องอาจจะขยายทวีคูณเป็นมูลค่า 20,000 บาท หรือ 200,000 บาทได้
โดยทั่วไปตามทฤษฎีแล้ว ผู้ผลิตจะตัดสินใจจ้างคนหรือลงทุนเพิ่มก็ต่อเมื่อเกิดความต้องการซื้อสินค้าจากผู้ซื้อที่มากกว่ากำลังการผลิตสูงสุดที่มี อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงธุรกิจอาจจะไม่ได้ทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้บริโภคเกิดความรู้สึกทางจิตวิทยาถึงความไม่แน่นอนของรายได้เนื่องจากการคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง การเริ่มต้นของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession or Depression) จะเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการตัดค่าใช้จ่ายทั้งในชีวิตประจำวัน (อาหาร การเดินทาง ความฟุ่มเฟือย) และในสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ (รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า) เพื่อประหยัดเงินไว้รองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ สิ่งที่จะตามมาคือผู้ผลิตจะหยุดการขยายการลงทุน ลดกำลังการผลิต ลดการสั่งซื้อวัตถุดิบ และปลดคนงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย สิ่งที่เลวร้ายต่อมาคือคนงานที่ถูกเลิกจ้างก็จะทำการลดค่าใช้จ่ายของตนเองเพิ่มมากขึ้น อุปสงค์สินค้าต่างๆก็จะลดน้อยลงไปอีก การเลิกจ้างก็จะมากขึ้น ฯลฯ กลายเป็นวงจรกลับไปมาที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ (Vicious Cycle)
สูตรสำเร็จการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุปทานแบบดั้งเดิม = ลดดอกเบี้ย+ลดภาษี: ที่อาจจะไม่ได้ผลสำหรับรอบนี้
ในช่วงเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ไม่ดี ธนาคารกลางมักจะนำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาใช้ เช่นการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้กับธุรกิจเอกชนและหวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมจากภาระดอกเบี้ยที่ถูกลง ในส่วนของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงอาจจะช่วยจูงใจให้เกิดการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ชิ้นใหญ่มากขึ้น เช่นบ้านและที่ดินรวมถึงการใช้จ่ายที่มากขึ้นจากเงินออมที่มีเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง
ปัญหาที่อาจทำให้การใช้มาตรการทางการเงินดังกล่าวไม่ได้ผลคือ ผู้บริโภคซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเกิดความไม่มั่นใจทำให้ไม่กล้าใช้จ่ายเงินแม้ว่าจะสามารถกู้ได้ที่ราคาถูก หากผู้บริโภคไม่ใช้จ่าย กิจกรรมต่อเนื่องที่จะช่วยให้เกิดการขยายตัวก็ไม่เกิด สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังไว้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดผลไม่เต็มร้อย รัฐบาลอาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมทางด้านอุปทานอย่างเช่นการลดภาษีให้กับภาคธุรกิจโดยหวังว่าผู้ผลิตจะมีเงินสดมากขึ้นทำให้ช่วยลดการปลดคนงานนั้นอาจจะล้มเหลวก็ได้หากนายจ้างยังคงกังวลเพราะไม่มีผู้ซื้อ ทำให้เก็บเงินสดที่ได้เป็นสภาพคล่องสำรองมากกว่านำมาใช้จ่าย
แจกเงินให้กับผู้ที่ต้องใช้จริงๆ
วิธีการแก้ปํญหาในกรณีข้างต้นได้แก่ รัฐบาลจำต้องเข้ามาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายโดยตรง นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐในแง่ของการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค (Infrastructure) แล้ว อีกวิธีหนึ่งง่ายๆที่รัฐบาลหลายๆประเทศกำลังดำเนินการอยู่รวมถึงไทยด้วยได้แก่ การแจกเงินแบบให้เปล่ากับผู้ที่ตกงานไม่มีรายได้ หรือผู้ที่จะต้องใช้จ่ายเงินที่แจกไปแน่ๆ หรือจะให้ในรูปของการจ้างงานโดยรัฐบาล ซึ่งแน่นอนมาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องระมัดระวังก็คือ การนำเงินดังกล่าวไปใช้ไม่ตรงกับจุดประสงค์รัฐบาลโดยเฉพาะการนำไปออมแทนที่จะนำไปใช้จ่าย หากการให้เงินดังกล่าวของรัฐกระจัดกระจายมากเกินไป โดยมีการแจกเงินให้กับผู้ทีมีฐานะดีอยู่แล้วหรือผู้ที่ไม่มีความเดือดร้อนทางการเงิน มาตรการดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลก็ได้เนื่องจากเงินดังกล่าวแทนที่จะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็จะไปสงบแน่นิ่งอยู่ในบัญชีออมทรัพย์แทน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำนอกเหนือจากการแจกเงินแล้ว ได้แก่ การกระตุ้นให้เกิดการนำเงินดังกล่าวที่ได้ไปใช้จ่ายจริง อาจจะอยู่ในรูปของการประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับเงินเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการให้เงิน (ประมาณว่าช่วยใช้เงินเพื่อชาติ) หรือการให้แรงจูงใจในการใช้เงินจำนวนนี้ อาทิเช่น แทนที่จะให้เงินสด ก็ให้ในรูปของคูปองที่มีวันหมดอายุ หรือแม้แต่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้เงินเสียใหม่สำหรับการแจกเงินคราวหน้า (ถ้ามี) ให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ อย่างเช่น คนตกงาน บุคคลล้มละลาย ผู้ปกครองที่มีลูกหลายคน หรือแม้แต่ผู้ที่มีภาระผ่อนบ้านอยู่ เป็นต้น
แจกเงินให้กับผู้ที่จะใช้จ่ายสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Buy Thailand) จริงๆ
สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง ได้แก่ เงินที่ประชาชนได้ดังกล่าวต้องถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศจริงๆ กรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นคือ เงินสดที่ได้ดังกล่าวแทนที่จะช่วยในการซื้อขายสินค้า Made In Thailand เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจของไทย อาจจะกลับกลายเป็นว่าเงินดังกล่าวจะไหลไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอื่นแทน อย่างเช่น หากผู้ได้เงินนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น ประเทศจีนอาจจะได้รับอานิสงค์แทนหากคนไทยนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากประเทศจีน หรือนำเงินไปบริโภคน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งผลก็คือ Multiplier Effect ที่คาดหวังสำหรับธุรกิจภายในประเทศอาจจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การชะลอการปลดคนงาน การจ้างงานเพิ่มหรือการขยายการลงทุนในภาคธุรกิจอาจจะไม่เกิดขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น คือ รัฐบาลควรที่จะสร้างหรือเสาะหา (อย่างเร็ว) ถึงแหล่งสินค้าที่อาจจะใช้แทนสินค้านำเข้าได้ (ฟังดูเหมือนการกีดกันทางการค้า) หรือการแจกคูปองที่ระบุสินค้าที่สามารถซื้อได้จากแหล่งที่ระบุเฉพาะเจาะจงโดยเน้นสินค้าที่ผลิตในประเทศ อาทิเช่น ข้าวสารหรือผลไม้จากสหกรณ์ต่างๆ ร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น