xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาเปลี่ยน-เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จับชีพจรการลงทุน:
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
อีเมล : arunsak@scbq.co.th


ความเหมือนอยู่อย่างหนึ่งของวิกฤติครั้งนี้เมื่อเทียบกับวิกฤติในปี 2540 คือ เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงกับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมากเกินไป ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันในปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน

วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เกิดจากระบบธนาคารที่พึ่งพิงเงินลงทุนจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินระยะสั้น) มากเกินไป รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนสำรองที่ล้มเหลว ซึ่งจากบทเรียนดังกล่าวทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยค่อนข้างจะเข้มงวดในเรื่องความเสี่ยงในระบบธนาคาร รวมถึงมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการสะสมและรักษาเงินทุนสำรองให้อยู่ในระดับสูงเพื่อความมั่นคงของระบบการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาไทยรอดพ้นจากวิกฤติในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สหรัฐฯ ยุโรป และหลายๆประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านการส่งออกอันเป็นเครื่องจักรสำคัญซึ่งช่วยให้ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดีเป็นเวลาสิบๆปีที่ผ่านมา อาจเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ไทยควรที่จะต้องหันมาเริ่มคิดถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการจัดการระบบเศรษฐกิจใหม่เหมือนเมื่อครั้งวิกฤติรอบก่อนอีกครั้งหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้แก่โจทย์ที่ต้องทบทวนว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพิงการส่งออก (import-led economy) อย่างมากนั้นยังคงเป็นสิ่งที่เราควรจะดำเนินการต่อหรือไม่

เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้ทำให้เราได้ทราบว่ารูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยที่เราดำเนินมาโดยตลอดโดยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปนั้นมีข้อเสียที่ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรงไม่น้อยกว่าเมื่อปี 2540 เลย ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีปัญหาในเรื่องระบบธนาคารก็ตาม ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกซึ่งรวมถึงไทยด้วยพึ่งพาการส่งออกมากถึงหนึ่งในสามของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม หรือมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในบางประเทศ ดังนั้น การที่ต้องพึ่งพาผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) คือสหรัฐฯ ทำให้เมื่อเกิดภาวะฟองสบู่แตกในสหรัฐฯ และการบริโภคของคนอเมริกันที่ลดลงอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นรายได้หลักเกิดอาการช็อคของรายได้ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ อย่างเช่นที่ไทยกำลังประสบปัญหาในขณะนี้ที่ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างมากมาหลายเดือนติดต่อกัน นอกจากนี้แนวโน้มของการส่งออกในเชิงของภาพใหญ่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยสดใสด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น

เศรษฐกิจถดถอยในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐฯและยุโรปที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศส่งออก ยังไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถฟื้นฟูกลับมาในระยะเวลาอันใกล้ มีไม่น้อยที่เชื่อว่าอาจจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าห้าปีเลยทีเดียว
การกีดกันทางการค้า (protectionism) จากประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น ความแตกต่างอย่างมากของการขาดดุล/เกินดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า (global current account deficit imbalance) จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ประเทศที่ขาดดุลมหาศาลจำต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความไม่สมดุลดังกล่าว ในปี 2550 ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเกิดใหม่ (developing or emerging countries) มีตัวเลขเกินดุลการค้ามากถึง 631 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่า 4.2 เปอร์เซ็นต์ของ GDP) ในทางกลับกัน สหรัฐฯประเทศเดียว ขาดดุลการค้าถึง 739 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่า 5.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP)
การแข่งขันในการขายสินค้าเหมือนๆกันของประเทศส่งออกด้วยกัน เมื่อความต้องการของประเทศที่เคยบริโภคสินค้าอย่างมาก อาทิเช่นสหรัฐฯ ลดลงอย่างกะทันหัน การหั่นราคาขายแข่งกันคงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะจากประเทศส่งออกที่ยังมีภาวะขาดดุลการค้าอยู่

ดังนั้น แทนที่เราจะรอโชคชะตาให้เศรษฐกิจโลกกลับมาดีเหมือนเดิม การเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากที่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก เป็นการเน้นการเติบโตภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ น่าจะเป็นสิ่งที่เราควรจะพิจารณาดำเนินการเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว มีสิ่งสำคัญอยู่สองสิ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายที่จะช่วยนำไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นกิจกรรมภายในมากขึ้นได้แก่

1.การส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (entrepreneurship)
รัฐบาลควรเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันเพื่อสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เขียนไว้เป็นแต่เพียงนโยบายในกระดาษ อาทิเช่น
-การสนับสนุนให้มีการเข้าถึงทางด้านสินเชื่อ (credit accessibility)
รัฐบาลควรเป็นหัวหอกสำคัญในการเสาะหาแหล่งเงินกู้ราคาถูกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยๆซึ่งจะทำให้ธุรกิจใหม่ๆที่เพิ่งเริ่มต้นสามารถอยู่รอดและสามารถให้บริการหรือผลิตสินค้าใหม่ๆแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลควรจะใช้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายดังกล่าวให้จริงจังมากกว่านี้ การหวังที่จะพึ่งธนาคารเอกชนใหญ่ๆที่มักจะกลัวความเสี่ยงมากเกินไปโดยยอมให้เงินกู้เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น หรือคิดอัตราดอกเบี้ยที่แพงมากเกินไปอาจจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ
การสนับสนุนดังกล่าวไม่ใช่เพียงแต่การให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินเท่านั้น แต่ควรจะช่วยเหลือให้คำปรึกษาในการประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้และกำไรได้จริง รวมถึงช่วยควบคุมการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิดด้วย ไม่ใช่ให้สินเชื่อไปแล้วก็ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นหนี้เสียจนผู้กู้ต้องมารวมตัวกันกดดันรัฐบาลให้ช่วยประนอมหนี้เหมือนกับที่เราเห็นตามข่าวอยู่บ่อยๆ
-การสนับสนุนเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (productivity improvement and innovation development)
การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานหมายถึงการทำงานให้ได้ output ที่มากขึ้นหรือมีคุณภาพที่ดีขึ้นจาก input เท่าเดิม รัฐอาจจะช่วยส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น หรือเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยพัฒนาทักษะหรือความรู้ใหม่ให้กับแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง (ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น) อีกแง่มุมหนึ่งของธุรกิจไทยที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญได้แก่ ไทยยังมีธุรกิจที่เน้นการคิดค้นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆน้อยมาก ลองสังเกตดูสิครับว่าธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จหรือมีขนาดใหญ่ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีหรือสัมปทานที่ได้รับมาจากรัฐทั้งสิ้น อาทิเช่น ธุรกิจพลังงาน ถ่านหิน ปูนซีเมนส์ การสื่อสาร หรือการท่องเที่ยว เราไม่มีบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆจากสมองคนไทยเลย เราไม่มีบริษัทอย่าง Microsoft, Apple, Google, Nokia หรือ Sony

2 การปรับปรุงระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น (social security)
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการออมเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบธนาคาร ในอัตราที่ค่อนข้างสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเน้นกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้มีการลงทุนหรือใช้จ่ายให้มากขึ้น (เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นนะครับ ไม่ใช่ฟุ่มเฟือยมากขึ้น) แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยยังคงนิยมออมเงินในอัตราที่สูง ยังไม่กล้าใช้จ่ายหรือลงทุนมากนักมาตั้งแต่อดีตก็เนื่องมาจากคนไทยยังไม่เชื่อมั่นต่อระบบการประกันสังคมของไทยที่ยังคงไม่เพียงพอนั่นเอง ระบบการประกันสังคมของไทยในปัจจุบันที่ให้ safety net กับผู้ประกันตนเองในจำนวนที่ค่อนข้างน้อยยังไม่สามารถทำให้คนไทยคลายความกังวลต่อความไม่แน่นอนในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการรักษาพยาบาล และมาตรฐานการครองชีพเมื่อแก่ตัว
-ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในปัจจุบันค่อนข้างแพงมากหากต้องการการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ในกรณีที่เกิดโรคร้ายแรงไม่ว่าจะกับตัวเองหรือญาติพี่น้อง อาทิเช่น โรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากหากต้องการการรักษาที่ดีและยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา การรักษามะเร็งคอร์สหนึ่งๆโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนอาจจะแพงถึงหลักล้านบาท
-รายได้ที่ระบบประกันสังคมในปัจจุบันที่ให้กับผู้เกษียณหรือให้กับผู้พิการจนไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมในกรณีโชคร้ายนั้นไม่เพียงพอในการรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตให้เหมือนเดิมหรือแม้แต่ใกล้เคียง ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงมักจะเก็บเงินฝังตุ่มเอาไว้เผื่อในกรณีจำเป็นดังกล่าวมากกว่าที่จะนำมาใช้หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น