xs
xsm
sm
md
lg

รีริวมุมมองเศรษฐกิจไทย จีดีพีทั้งปีเห็นตัวเลขติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่นับวันยิ่งมีสัญญาณความถดถอยที่รุนแรงมากขึ้น และแรงปะทะที่พุ่งตรงมายังเศรษฐกิจไทย ปรากฏชัดว่ามีความหนักหน่วงกว่าที่เคยประเมินไว้ สถานการณ์ล่าสุดในต่างประเทศ ก็มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่รัฐบาลอาจจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่แผนช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ...ส่วนในยุโรป สถาบันการเงินหลายแห่ง โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกประสบปัญหาค่อนข้างหนัก มีผู้ประเมินว่าธนาคารในกลุ่มประเทศยูโรจะเผชิญความสูญเสียเพิ่มขึ้นอีกกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในระยะ 3 ปีข้างหน้า และปัญหาในภาคการเงินอาจจะฉุดเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปให้ถดถอยลงมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองทั้งปีจีดีพีลบ1.5%ถึง0.2%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2552 มีโอกาสติดลบ 1.5% ถึงขยายตัว 0.2% โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1/2552 ถึงไตรมาส 3/2552 ดังนั้น คาดว่าจีดีพีครึ่งปีแรกจะติดลบ 2.7-4.3% แต่เป็นอัตราติดลบน้อยกว่าไตรมาส 4/2551 ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลัง คงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก

ขณะที่เศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้รุนแรงกว่าที่คาด เห็นได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศจีดีพีของไทยในไตรมาส 4/2551 หดตัวถึง 4.3% แรงกว่าที่หลายฝ่ายคาด สาเหตุสำคัญ มาจากการหดตัวของภาคการส่งออก

และการส่งออกเดือนมกราคม 2552 ก็ยังหดตัวถึง 26.5% ยิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไป จะยังเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้น โดยความตกต่ำของภาคธุรกิจส่งออกหลักจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การลดกำลังการผลิตและการจ้างงานในวงกว้าง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศไว้อาจช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2552 และไตรมาส 3/2552 ได้ระดับหนึ่ง แต่หากเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกยังไม่พ้นภาวะถดถอยในปีนี้และการฟื้นตัวอาจข้ามไปถึงปี 2553 จะยิ่งกดดันให้การส่งออกไทยอยู่ภายใต้ความถดถอยนานขึ้น

สำหรับกรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจในปี 2552 อยู่ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลปัจจุบันมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศและสามารถผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้าได้พอสมควร เช่น โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย โครงการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ว่าง และเศรษฐกิจต่างประเทศอาจเริ่มมีสัญญาณค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2551 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวของไทยจะเร่งการผลิตและกิจกรรมการตลาดเพื่อขยายยอดขาย

และคาดว่าในช่วงที่อุปสงค์ของภาคเอกชนหดตัวลงทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน จะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศปรับลดลงรุนแรง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล แม้ว่าการส่งออกจะหดตัวสูงก็ตาม สำหรับกรณีเลวร้าย เป็นกรณีที่เศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกตกอยู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงไตรมาส 4/2552 ซึ่งจะยิ่งกดดันให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบยาวนานมากขึ้น

ภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 1.5 ถึง บวก 0.2% คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวในระดับต่ำ ติดลบ 0.2% ถึงบวก 0.3% ลดลงจากปี 2551 ที่ขยายตัว 2.5% แม้จะได้รับผลกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่การบริโภคจะถูกกดดันจากปัญหาการว่างงาน การลงทุนโดยรวม คาดว่าอาจจะติดลบ 4-5.5% จากที่ขยายตัว 1.1% ในปี 2551

ส่วนการส่งออกอาจจะติดลบ 10-16% จากที่ขยายตัว 16.8% ในปี 2551 เป็นการหดตัวรายปีที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้า ติดลบ 11.5-17% โดยมีแนวโน้มลดลงในอัตราที่มากกว่าการส่งออก เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ และการปรับลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ จึงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,000-2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,400-2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ1% ถึง บวก 1% และเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0-1%

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ยังต้องเผชิญผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังของทางการไทยอาจช่วยเยียวยาในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นภายนอกประเทศอันยากเกินจะควบคุม อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจึงอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและขยายการส่งออกได้มากเท่าช่วงเศรษฐกิจในสถานการณ์ปกติ

ทั้งนี้ บทบาทของรัฐบาลและมาตรการทางการคลัง จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลัง แต่ภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนคือการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าโดยเร็วเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เร่งหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรองรับแรงงานที่จะว่างงานเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 1.28-1.52 ล้านคน เร่งผลักดันโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

และอีกแนวทางที่อาจจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ คือการส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ หันมาอุดหนุนสินค้าไทยและเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละปีคนไทยใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศประมาณ 180,000 ล้านบาท หากจูงใจให้หันมาท่องเที่ยวภายในประเทศเพียง 10% ก็จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว 18,000 ล้านบาท และรณรงค์ให้คนไทยปรับพฤติกรรมหันมาบริโภคและซื้อสินค้าไทยมากขึ้น จากที่เคยมีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ปีละ 450,000 ล้านบาท จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศอย่างมาก

โบรกมองครึ่งปีแรกจีดีพีหดตัว
ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2552 ว่า ภายหลังจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2551 หดตัวถึง 4.25%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแย่กว่าประมาณการของตลาดที่ -3.00% และประมาณการของเราที่ -3.47% แม้ตัวเลขจีดีพีนี้เป็นตัวแทนภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงมากกว่า 2 เดือนก่อนหน้า แต่ก็บ่งชี้ถึงผลกระทบที่ไทยได้รับจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะเห็นตัวเลขจีดีพีหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยสภาพัฒน์ฯ คาดว่าจีดีพีปี 2552 จะขยายตัวในกรอบ -1 ถึง 0% และบริษัทได้ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ลงมาที่ -1% ซึ่งเป็นขอบล่างของสภาพัฒน์ฯ ด้วยเช่นกัน

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้มาก โดยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 5.97% ในไตรมาส 1/2551, 5.28% ในไตรมาส 2/51, 3.90% ในไตรมาส 3/2551 เป็น -4.25% ในไตรมาส 4/2551หากปรับผลด้านฤดูกาลออก และคำนวณด้วยราคาปีปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2551จะหดตัวหนักถึง 8.44% จากไตรมาสก่อนหน้า

แม้มองย้อนกลับไปในช่วงที่เลวร้ายที่สุดอย่างตอนเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 และ 2541 บริษัทเองยังไม่เคยเห็นการตกลงอย่างหนักของจีดีพีจากไตรมาสก่อนหน้ามากถึงเพียงนี้ นอกจากนี้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2551ที่ปรับตัวลงแรงยังดึงตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2551 ลงมาที่ระดับการขยายตัวเพียง 2.58% จากปีก่อน แม้ฐานการคำนวณในปี 2551 จะต่ำลง แต่สภาพัฒน์ฯ ก็ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงอีก 4.28 - 5.16% จากประมาณการเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การส่งออกสุทธิที่ปรับตัวลงหนักเป็นสาเหตุหลัก โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวลงถึง 8.65% ในไตรมาส 4/2551ขณะที่ปริมาณการนำเข้าขยายตัวเพียง 1.00% ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสุทธิปรับตัวลงถึง 38.19% หากกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ การส่งออกสุทธิที่ตกลงอย่างหนักเพียงตัวเดียวมีผลทำให้จีดีพีในไตรมาส4/2551 หดตัวถึง 6.61% จากสถานการณ์การถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นในปีนี้ และความจริงที่ว่าประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสุทธิในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวลง

สภาพัฒน์ฯมองว่างงานพุ่ง
สภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2552 ลงมาที่กรอบ -1.0 ถึง 0.0% จากกรอบ 3.0 ถึง 4.0% ที่ทำไว้ในเดือนพฤศจิกายน
ทั้งนี้ประมาณการดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวลงหนักราว 6.2% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าหดตัว 5.4% นอกจากนี้สภาพัฒน์ฯ ยังคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 2.2%, การลงทุนภาคเอกชนจะหดตัว 3.0% และคาดว่าการบริโภคและลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 8.3% และ 8.0% ตามลำดับ หลังจากรัฐบาลสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณกลางปีได้สำเร็จ และสามารถส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ได้

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯ ยังคาดว่าอัตราการว่างงานจะสูงขึ้นจากระดับ 1.4% ในปี 2551 เป็น 2.5-3.5% ในปีนี้ บริษัทได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่มาอยู่ที่ระดับ -1% ซึ่งเป็นขอบล่างของประมาณการของสภาพัฒน์ฯ โดยคาดว่าจีดีพีในไตรมาส 1/2552 และ 2/2552 จะหดตัว 4.55% และ 1.23% ตามลำดับ ขณะที่คาดว่าจีดีพีจะค่อยๆ ฟื้นตัวเป็น 0.62% ในไตรมาส 3/2552 และ 1.30% ในไตรมาส 4/2552 ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น