เอเจนซี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่า เศรษฐกิจในเอเชียซึ่งถูกวิกฤตการเงินฉุดลากให้ชะลอตัวรุนแรง จะฟื้นตัวในปีหน้า แต่ก็เตือนว่า ภูมิภาคที่พึ่งพาการส่งออกอย่างหนักแห่งนี้ จะยังไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง โดยต้องรอการกระเตื้องขึ้นของสหรัฐฯและยุโรป
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไอเอ็มเอฟก็เพิ่งออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับปรับปรุงล่าสุด ซึ่งได้ลดประมาณการอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการถดถอยของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟพูดกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อวันนี้ (3) โดยวิธีแพร่ภาพออกอากาศสดผ่านทางเว็บ (เว็บคาสต์) จากกรุงวอชิงตัน ว่า เอเชียต้องกระตุ้นความต้องการบริโภคในภาคครัวเรือนให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งมีปัญหารุนแรงกว่าเอเชียมาก แต่ สเตราส์-คาห์น ก็บอกด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน
“เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเอเชียที่ฟื้นตัวในขณะที่ทั้งโลกยังย่ำแย่อยู่” เขากล่าว
ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่นั้น พึ่งพาคำสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯและยุโรปเป็นหลัก เมื่อตลาดส่งออกมีปัญหาก็ฉุดลากเอาเศรษฐกิจของผู้ส่งออกไปด้วย ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าปริมาณมหึมา ได้ออกมารายงานว่ายอดส่งออกของตนเองร่วงลงอย่างรุนแรง ไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจเอเชียในปีนี้จะเติบโตแค่ 2.7% เท่านั้น ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่เท่ากับ 4.9%
“แต่ก็ยังไม่แน่นอนนัก สถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดก็ยังอาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะมีสัญญาณด้านดี แต่ความเสี่ยงในด้านลบก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน” สเตราส์-คาห์น กล่าว
เขายังได้บอกด้วยว่า เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียในปีหน้าน่าจะเติบโตในอัตรา 5% และจะมีบางประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสภาพแวดล้อมเริ่มดีขึ้น
กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ มองว่า จีนซึ่งเป็นประเทศเอเชียที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น น่าจะมีอัตราการเติบโตของปีนี้อยู่ที่ 8% ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลแดนมังกร แต่ สเตราส์-คาห์น ก็เห็นว่า รัฐบาลจีนจะต้องออกมาตรการมิใช่น้อย เพื่อกระตุ้นการเติบโตดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นทางด้านการคลังที่ควรทำเพิ่มเติม และเขาบอกว่าด้วยว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน “มีความสำคัญอย่างมาก” ต่อเศรษฐกิจโลก
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าถึง 4 ล้านล้านหยวน(584,000 ล้านดอลลาร์) โดยจะทุ่มเทไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งการจับจ่ายใช้สอยในชนบท สเตราส์-คาห์น เน้นว่า เงินหยวนนั้นยังคงมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ แต่สำหรับตอนนี้รัฐบาลจีนคงต้องหันไปใส่ใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนอื่น
ในประมาณการณ์ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวราว 6.7% ในปีนี้ ซึ่งเทียบกับ 9% ของปี 2008 แล้วก็ถือว่าชะลอตัวลงมาก
ไอเอ็มเอฟยังได้ตัดลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้เหลือเพียง 0.5% เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เทียบกับอัตรา 2.2% ที่คาดไว้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ไอเอ็มเอฟ กล่าวเมื่อวานนี้ (3) ว่า อัตราการเติบโตของเกาหลีใต้ก็ถูกปรับลดลงให้เป็นติดลบ 4% ในปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟ คาดไว้ว่า จะขยายตัว 2% แต่ก็บอกด้วยว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจจะขยายในอัตรา 4.2% ในปี 2010 เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว
การปรับคาดการตัวเลขเศรษฐกิจครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้อาจจะประสบภาวะย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ในปีดังกล่าวเศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวลงถึง 6.9% จากผลพวงของวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งที่แพร่ไปจากประเทศไทย ซึ่งทำให้เกาหลีใต้ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดของไอเอ็มเอฟนั้นน่ากลัว และขัดกับการทำนายของธนาคารกลางเกาหลีใต้เองที่บอกว่าเศรษฐกิจประเทศปีนี้จะขยายตัวในอัตรา 2%