xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจ...กับเเผนรับมือของรัฐบาลทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี 2552 กันเเล้ว เเต่ผลพวงหรือปัญหาของปีที่เเล้วไม่ได้จบสิ้นลงตามวันเวลาที่ผ่านไป โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจด้วยเเล้ว ต้องยอมรับว่าเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกหวั่นไหวเเละเเปรปวนไปตามข่าวดี-ข่าวร้ายรายวัน เเม้ว่าข่าวที่ว่านี้จะอยู่คนละซีกโลก ต่างละติจูด เเต่ก็เชื่อมโยงเเละส่งผลกระทบถึงกันได้ราวกับโรคติดต่อ โดยรัฐบาลเเต่ละประเทศต่างพากันงัดกลยุทธ์ สูตรเด็ด เพื่อเยียวยากับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ เเทนการพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เฉกเช่นประเทศไทยเรา ที่พึ่งพากันส่งออกเป็นหลัก นั้นเอง

มาดูเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง โดยธนาคารกลางอังกฤษ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 315 ปีเลยที่เดียว ขณะที่อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไตรมาสสุดท้ายในปีที่ผ่านมา หดตัวลง -1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 พบว่า GDPของไตรมาส 4 ในปีเดัยวกัน หดตัวลง -0.6%

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอังกฤษระบุถึงรายละเอียดในแผนความช่วยเหลือภาคธนาคารครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลจะรับประกันตราสารหนี้ และ สินทรัพย์ที่มีปัญหาซึ่งออกโดยธนาคารซึ่งได้รับการเพิ่มทุนโดยรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ กรุ๊ป และลอยด์ส แบงกิ้ง กรุ๊ป และจะขยายระยะเวลาในการเพิ่มเม็ดเงินเข้าระบบการเงินของธนาคารกลางอังกฤษออกไป

ฟากสหรัฐอเมริกานั้น สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐ ได้ลงมติให้ความเห็นชอบงบประมาณช่วยเหลือทางการเงิน 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว11 ล้านล้านบาท จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 24.5 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0 – 0.25% โดยส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำระบุถึงการซื้อพันธบัตรระยะยาว เพื่อที่จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอสังหาฯ (Mortgage rate) ให้ทรงตัวในระดับที่ต่ำ ตลอดจนยังคงซื้อตราสารหนี้ที่มีอสังหาฯค้ำประกัน (Mortgage-backed securities)

โดยบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ อย่าง ฟอร์ด รายงานผลประกอบการขาดทุนไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์ เเละปรับลดการจ้างงานภายในวันเดียวถึง 20,000 ตำแหน่งด้วยกัน ทางด้านธนาคารกลางแคนาดา ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1% ซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1934 โดยได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมครั้งต่อไป

ส่วนธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% เหลือเพียง 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2548 เพื่อพยุงเศรษฐกิจยุโรปไม่ได้ถูกกระทบจากภาวะถดถอย ขณะที่คณะกรรมการยุโรป คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนจะหดตัวลง 1.9% ในปี 2552 ลดลงจากประมาณการครั้งที่แล้วที่มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในระดับ 0.1% สาเหตุจากผลกระทบจากวิกฤติการเงินทั่วโลก นอกจากนี้ ธนาคาร รายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในเเง่มูลค่าตลาดอย่าง บีเอ็นพี พาริบาส์ รายงานตัวเลขขาดทุนในไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2551 ว่ามีมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ตัดบัญชีหนี้สูญออกมาอีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางฝั่งรัฐบาลรัสเซียก็กำลังพิจารณาช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ เป็นวงเงิน 9 แสนล้านรูเบิล หรือราว 2.736 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งยังคงประสบปัญหาสภาพคล่อง ต้องถือว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ของรัฐบาลเป็นการเข้าไปช่วยเหลือครั้งที่ 2 เเล้ว

ส่องกล้องดูเอเชีย
เริ่มกันที่ ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ลดดอกเบี้ยลง 0.5 % ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5 % ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 0.1% หลังจากที่ได้ลดดอกเบี้ยไป 0.2% ในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว อีกทั้งยังได้ระบุถึงการเตรียมที่จะซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น ของบริษัทเอกชนมูลค่า 3 ล้านล้านเยนจากสถาบันการเงินภายในวันที่ 31 มีนาคม นี้ เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง ขณะที่ประเทศจีน ประกาศ GDPไตรมาส 4 ในปีที่ผ่านมา ขยายตัวเพียง 6.8% ส่งผลให้ตัวเลขทั้งปีขยายตัว 9%

ทางด้านสิงคโปร์ เองก็รายงานยอดส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม ไม่นับรวมน้ำมันลดลงถึง 20.8% และลดลงต่อเนื่องจากระดับ 17.5% ในเดือนพฤศจิกายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลง 17% ขณะที่ยอดส่งออกสินค้าโดยรวมในปี 2551 ร่วง 7.9% ทั้งนี้ยอดส่งออกของสิงค์โปร์ไปจีนลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่วนการส่งออกไปไต้หวันร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ 41.9% ต้องถือว่าตัวเลขดังกล่าวน่าตกใจเลยทีเดียว เนื่องจากประเทศสิงคโปร์ เป็นเกาะเล็กๆ เเละเป็นเมืองท่าที่สำคัญ โดยอาศัยการส่งออกเป็นหลัก

สำหรับประเทศสิงคโปร์ นั้นต้องยอมรับว่าโดนพิษภาวะเศรษฐกิจโลกเล่นเอาเจ็บช้ำเช่นกัน ล่าสุดประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน ไตรมาสที่ผ่านมาว่ายหดตัวลงที่ 3.7 % **นอกจากนี้ กระทรวงการค้า และอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 ว่าอาจจะหดตัวที่ -5 %ถึง-2 % ซึ่งถือ อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2552 ของสิงคโปร์ หดตัวที่ 5 % จริงจะถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวของGDP ที่หดตัวลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์สิงคโปร์**

ขณะที่นายกรัฐมนตรีของเวียดนามประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1. การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าส่งออก อาทิ เหล็ก ซีเมนต์ ปุ๋ยกระดาษ และ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 2. จัดสรรเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับโครงการพัฒนาหลัก 3. เร่งการปฏิรูปและปรับปรุง กฎเกณฑ์การลงทุน มาตรการที่ 4.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ขยายเวลาจ่ายภาษีให้กับบริษัท 5. ธนาคารแห่งชาติเวียดนามปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการส่งออกและการปล่อยเงินกู้ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเกี่ยวกับการส่งออกและเกษตรกร 7. ผ่อนปรนกำหนดเวลาชำระหนี้สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

นอกจากนี้เล้ว ฟิทช์ ยังได้คาดการณ์ตัวเลข GDP ของเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 0.9 % โดย GDP สหรัฐจะลดลง 1.2 % ส่วนยูโรโซจะนลดลง 0.7 % และญี่ปุ่นลดลง 1.7 % ะสำหรับประเทศจีนนั้น ฟิทช์ มองว่า อัตราการเติบโต ของเศรษฐกิจจีนอาจชะลอลงสู่ 6 % ในปี 2552 ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่มีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียจำนวนมากสำหรับธนาคารจีน และ GDPของประเทศไทยในปี 2552 คาดว่าจะลดลง 1.1% ในส่วนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจโลกสู่ระดับ 0.5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2ในขณะที่จีน นั้น IMF ปรับลดประมาณการ GDP สู่ระดับ 6.7% ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะอยู่ในปี 2553

รอลุ้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง
หลังจากดูข่าวร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกไปเเล้ว ลองมาดูข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเราบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ ดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างดี เเม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิเคราะห์การเมือง เเละนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ หลายคน เเต่ในเสียงวิพากษณ์วิจารณ์เหล่านั้นก็ยังมีเสียงชื่นชมในการเเก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่เป็นดังคลื่นลูกใหญ่ซัดเข้ามานั้นเอง มาดูมุมมองของผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. กันบ้างว่า ทีมผู้บริหารมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยเช่นไร

รพี สุจริตกุล ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด มองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า มาตรการต่างๆที่ออกมาจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 2553 โดยคาดว่าเดือนกันยายน - ตุลาคมนี้ เม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงไปนั้นจะเกิดผลในทางปฏิบัติและจะกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนตามมา ขณะเดียวกันการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะเริ่มเดินหน้าหรือมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจจะเติบโตประมาณ 0.5 – 1.5% เนื่องจากได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยจะตอบรับก่อนเศรษฐกิจจริงจะเริ่มฟื้นตัวเศรษฐกิจประมาณ 6 เดือน

"เชื่อว่าตลอดปีนี้ดัชนีหุ้นไทยยังมีความผันผวนโดยอาจจะมีการฟื้นตัวบ้างเล็กน้อยในช่วงนี้ เพราะได้รับผลดีจากแจนยัวรี่ เอฟเฟกต์ โดยเฉพาะการได้รับเม็ดเงินลงทุนใหม่ จากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ( RMF) เเละกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งไม่ใช่การฟื้นตัวแบบถาวร เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ยังถือเงินสดเพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจให้มีความชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจกลับเข้าซื้อหุ้นอีกครั้ง จึงประเมินว่าดัชนีหุ้นปีนี้มีโอกาสขึ้นไปที่ 600 จุด ขณะที่กำไรสุทธิต่อหุ้นจะอยู่ประมาณ 0.5-1.5% เท่านั้น"

สำหรับการลงทุนในช่วงนี้ คงจะแนะนำให้นักลงทุนลงทุนระยะสั้น โดยเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน อายุประมาณ 3 เดือน ดังนั้นตราสารหนี้เอกชน บริษัทขอแนะนำนักลงทุนว่าให้พิจารณาตราสารหนี้เอกชนที่ได้รับการจัดเรตติ้ง ระดับ AA ซึ่งการลงทุนระยะสั้นจะมีความปลอดภัยมากกว่าเพราะผลกระทบเศรษฐกิจ

ขณะที่ โศภนา เจนบวร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เห็นพ้องกันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ประเทศต่างๆ ได้มีการใช้มาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ากว่ามาตรการเหล่านั้นจะเห็นผลคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ขณะเดียวกันหากมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะประสบความสำเร็จและเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในปลายปี2552 นี้ ดัชนีหุ้นไทยน่าจะก็มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นก่อนหน้าได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ดัชนีน่าจะอยู่ในระดับเป้าหมายที่ 600 จุด ซึ่งเป็นการมองแบบระมัดระวังมากแล้ว โดยอาจจะอยู่ในช่วงใดก็ได้ของปี

ส่วนหุ้นกลุ่มที่น่าจะสนใจลงทุนในปีนี้ จะอยู่ใน กลุ่มพลังงาน กลุ่มที่อ้างอิงการบริโภค และพาณิชย์ โดยกลุ่มของพลังงานเชื่อว่า ราคาน้ำมันในปีนี้น่าจะปรับตัวกลับขึ้นมาได้ แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับในอดีตก็ตาม ขณะที่กลุ่มที่อิงกับการบริโภคในประเทศและกลุ่มพาณิชย์ รวมทั้งหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งอาจจะต้องเลือกดูเป็นรายธนาคารไป

"หากเป็นนักลงทุนระยะยาวแล้วการลงทุนในช่วงเวลานี้นี่ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน เพราะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาค่อนข้างมากจนปัจจุบันบริษัทในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีการซื้อขายในระดับที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (BV) ประมาณ 30-40%"


กำลังโหลดความคิดเห็น