xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุน(เก็งกำไร)ในทองคำ ผลตอบแทนที่งดงามในยามวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทองคำ เป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่นักลงทุนมักนิยมถือครองในฐานะเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและเพื่อสะสมความมั่งคั่ง เนื่องจากการลงทุนในทองคำมักจะไม่เสื่อมค่าลงจากแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อ เหมือนกับการถือเงินสดหรือเงินฝาก นอกจากนี้ ยังให้อัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีแนวโน้มการปรับลงเช่นนี้ โดยราคาทองคำในช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2552 ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นมาคงจะมาจากความกังวลต่อแนวโน้มถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก ตลอดจนความผันผวนของภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลก ทำให้นักลงทุนต่างเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงออกมา อาทิ ลดการลงทุนในตลาดหุ้น และหันมาให้น้ำหนักการลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า เช่น ทองคำ จนเป็นเหตุให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับปี 2552 นั้น ทองคำคงจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากแนวโน้มการคาดการณ์ราคาทองคำที่อาจปรับขึ้นได้อีกในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตามการลงทุนคงต้องอาศัยความระมัดระวัง เนื่องจากคาดว่าราคาทองคำน่าจะยังคงเผชิญกับความผันผวน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปภาพรวมราคาทองคำปี 2551 และแนวโน้มในปี 2552 ไว้ดังนี้

แนวโน้มราคาทองคำในปี 2552
แม้ว่าราคาทองคำอาจยังคงได้รับแรงหนุนต่อไปในปี 2552 ในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ท่ามกลางปัญหาวิกฤตการเงินโลก แต่ก็ยังน่าจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง อีกทั้งการซื้อขายทองคำในประเทศอาจเผชิญข้อจำกัดด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ในระยะยาวนั้น ราคาทองคำยังถูกคาดหมายว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานของทองคำในตลาดโลกก็มีอยู่อย่างจำกัดแต่อุปสงค์กลับมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่มากกว่าอุปทาน ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกได้แก่

ปัจจัยระยะสั้น
สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกที่ยังขาดความชัดเจน เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ โดยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯก็ยังคงมีทิศทางที่เปราะบางและยังมีแนวโน้มอ่อนแอตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัยที่ซบเซา ซึ่งคงจะเป็นปัจจัยกดดันต่อความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และส่งผลให้นักลงทุนโยกเงินไปยังแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่าเช่น ทองคำ ซึ่งล่าสุดราคาทองคำได้ทะลุกรอบ 960 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ขึ้นมาแล้ว (มอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2555 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความต้องการโลหะมีค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสกุลเงินดอลลาร์ฯที่อาจมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะยาว)

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนอยู่ที่จังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ขณะนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2552) โดยหากทางการสหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม และได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด รวมทั้งหากนักลงทุนมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ก็อาจจะมีการเทขายทองคำ รวมทั้งสินทรัพย์อื่นๆที่ถูกมองว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เช่น เงินดอลลาร์ฯ และ เงินเยน (ซึ่งในระยะหลังที่ความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเครดิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้นนั้น เงินดอลลาร์ฯ และ เงินเยน ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์ฯ และ เงินเยน มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำมากขึ้น) ออกมา ขณะที่นักลงทุนอาจหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ที่มองว่ามีโอกาสทำกำไร เนื่องจากราคาในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว เช่น หุ้นในตลาดต่างๆ ทั่วโลก เป็นต้น

ปัจจัยด้านสภาพคล่องของทองคำในประเทศ โดยในจังหวะที่ราคาทองคำลดลงไปต่ำมากนั้น ก็จะมีนักลงทุนพากันซื้อทองเก็บไว้เป็นจำนวนมากเพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำในอนาคต ซึ่งทางร้านขายทองก็จำเป็นที่จะต้องมีปริมาณทองคำที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และถ้าสต็อกของทองคำหมดลง ทางร้านทองก็จะมีการสั่งนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ซึ่งการนำเข้านั้นต้องใช้ระยะเวลานานถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว ในขณะที่ช่วงราคาทองคำปรับขึ้นไปสูง ก็จะมีนักลงทุนเทขายทองคำออกมา ทำให้ผู้ค้าทองต่างๆอาจประสบปัญหากระแสเงินสดติดขัดเนื่องจากเงินสดที่มีอยู่ในมือไม่เพียงพอต่อการรับซื้อคืนทองคำ ซึ่งบางกรณีอาจต้องใช้ระยะเวลานานนับชั่วโมงในการขนเงินสดที่เบิกจากธนาคาร ร้านทองหลายแห่งอาจจำเป็นที่จะต้องปิดการขายลงชั่วคราวและส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยผู้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจริงๆ

กระนั้นก็ดี ปัญหาด้านสภาพคล่องของร้านทองยังเกี่ยวข้องกับปริมาณการซื้อทองคำของลูกค้าอีกด้วย เนื่องจากถ้านักลงทุนรายย่อยซื้อทองคำในมูลค่าที่ไม่สูง (หลักพันหรือหมื่น) ก็คงไม่กระทบต่อการซื้อขายมากนัก แต่เมื่อไรก็ตามที่นักลงทุนต่างพากันซื้อทองคำในมูลค่าที่สูงมาก (มูลค่าสูงถึงหลักล้าน) ก็อาจจะกระทบต่อการบริหารสภาพคล่องของร้านได้บ้าง หากมีธุรกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคงจะขึ้นอยู่กับความสามารถของร้านทองแต่ละร้านในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการซื้อขายทองคำที่มีมูลค่าสูงมากๆ

ดังนั้น การลงทุนในทองคำซึ่งถูกมองว่าน่าจะเป็นทางเลือกการออมที่ค่อนข้างมีสภาพคล่องสูง แท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป โดยประเด็นสภาพคล่องของทองคำนี้ เป็นอีกประเด็นที่นักลงทุนควรที่จะต้องตระหนักและพึงพิจารณาก่อนการลงทุน เพราะนอกจากจะมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้ลงทุนแล้ว ยังอาจมีผลต่อทิศทางราคาทองคำในระยะสั้นๆได้ โดยเฉพาะในยามที่ราคาค่อนข้างผันผวนสูงเช่นปัจจุบัน

ปัจจัยระยะยาว
แนวโน้มเงินเฟ้อจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากการดิ่งตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก จนกระทั่งมีความกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะเงินฝืดตามมา แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลชั้นนำของโลกต่างอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยการขาดดุลการคลังในระดับสูงมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคงจะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของปริมาณเงินในระบบ และอาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมาในปีถัดๆไป โดยเฉพาะหากน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีราคาที่ปรับขึ้น หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้น การลงทุนในทองคำอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อหนุนต่อราคาทองคำในระยะยาวได้

แนวโน้มที่ลดลงของอุปทานทองคำ เนื่องจากเหมืองผลิตทองคำทั่วโลกมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการสร้างเหมืองใหม่ขึ้นมาอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 7 ปีถึงจะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่บริษัทเหมืองทองคำบางแห่งประสบปัญหาการเมืองจนต้องปิดกิจการลง เช่น ในปีที่แล้วเหมืองทองคำสัญชาติแคนาคาที่ต้องสูญเสียพื้นที่สัมปทานเหมืองในประเทศเวเนซุเอลา หรือแม้กระทั่ง เหมืองทองคำในประเทศโรมาเนียซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปก็ต้องถูกสั่งปิดไป เนื่องจากศาลประกาศให้เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ในปี 2551 ยอดรวมของการเทขายทองคำออกมาของธนาคารกลางทั่วโลกภายใต้ข้อตกลง Central Bank Gold Agreement (CBGA) อยู่ที่ 357 ตัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง CBGA ในปี 2542 (โดยมีข้อตกลงหลักๆคือธนาคารกลางทั่วโลกสามารถขายทองคำออกมารวมกันไม่เกิน 500 ตันต่อปี) โดย พบว่าปริมาณอุปทานของทองคำในตลาดโลกทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มีจำนวนทั้งหมด 2,492 ตัน ลดลงจาก 2,558 ตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ปริมาณความต้องการใช้ทองคำ (ตัน) ปรับลดลงสู่ระดับ 2,656 ตัน จาก 2,782 ตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก (ในเชิงมูลค่ากลับเพิ่มขึ้นตามราคาทองคำต่อหน่วยที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่าเท่ากับ 74,690 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจาก 57,791 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550) แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าถ้าปัญหาวิกฤตการเงินโลกคลี่คลายลงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพได้อีกครั้ง ก็น่าจะทำให้ความต้องการใช้ทองคำ (อุปสงค์) เพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะถัดไป ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนำไปใช้สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ตลอดจนใช้เป็นปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุทันตกรรม หรือเหรียญต่างๆ

ดังนั้น จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่อทองคำในอนาคต แต่อุปทานของทองคำกลับมีอยู่อย่างจำกัด ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาทองคำเติบโตไปในระยะยาวได้ นอกจากนี้ เมื่อพิจาณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำพบว่าผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีของทองคำ จะอยู่ที่ประมาณ 13% เฉลี่ยต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 17% เลยทีเดียว

กำลังโหลดความคิดเห็น