เชื่อว่าตอนนี้ หลายคนคงกำลังจับตามองเป็นพิเศษ ถึงมาตรการที่รัฐบาล "โอบามา" จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่เข้าขั้นย่ำแย่เข้าไปทุกที ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยเอง ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายคนให้ความสนใจ...แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ ปัจจุบันพื้นที่ของการลดดอกเบี้ยของสหรัฐเอง ยังเหลือไม่มากนัก ดังนั้น สุดท้ายแล้วมาตรการทางดอกเบี้ยจะออกมาเป็นเช่นไร เชื่อว่าคงเป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้...
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่า ในวันที่ 27-28 มกราคม 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบร้อยละ 0.00-0.25 ตามเดิม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มประสบกับภาวะถดถอยที่ลึกและยาวนาน
โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ระบุว่า IMF กำลังจะปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ลงอีกในเร็วๆ นี้ หลังจากที่เพิ่งจะทบทวนประมาณการโดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัวร้อยละ 0.7 ในปีนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯก็ยังคงมีทิศทางที่เปราะบางและยังมีแนวโน้มอ่อนแอตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย โดยดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการ (ISM Manufacturing / Service Indices) ยังคงบ่งชี้ถึงภาวะถดถอย ส่วนการจ้างงานก็หดตัวลงประมาณ 2.59 ล้านตำแหน่งในปี 2551 และอัตราการว่างงานได้ปรับขึ้นมาที่ร้อยละ 7.2 ในเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2536
ด้านดัชนีราคาบ้านก็หดตัวลงต่อเนื่องและยังไม่ถึงจุดต่ำสุด รวมทั้งยอดการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างก็ทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธันวาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับสินค้าขั้นสุดท้ายและดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดในเดือนธันวาคมก็ปรับตัวลงมามีค่าติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และกว่าครึ่งทศวรรษ ตามลำดับ จนทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด
อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เหลือพื้นที่ให้เฟดดำเนินการผ่อนคลายเพิ่มเติมได้อีกแล้ว แต่เฟดน่าจะยังคงยืนยันในแถลงการณ์หลังการประชุม (FOMC Statement) ว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อไป โดยในช่วงที่ผ่านมา เฟดได้ดำเนินนโยบายการเงินเชิงปริมาณด้วยการอัดฉีดเสริมสภาพคล่องผ่านช่องทางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความตึงตัวของตลาดสินเชื่อ อาทิ มาตรการเข้าซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Paper) ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนของภาคเอกชน และมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายหรือที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนกระทั่งสินทรัพย์ของเฟดได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ประมาณ 2.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 14 มกราคม 2552 เทียบกับระดับเพียง 8.94 แสนล้านดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2550 เท่านั้น
ซึ่งผลจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายผ่านเครื่องมือต่างๆ ของเฟด ก็ได้สะท้อนภาพความสำเร็จออกมาในระดับหนึ่งผ่านการปรับตัวดีขึ้นของภาวะตลาดเงิน อาทิ การปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ฯ (Libor) รวมถึงค่าผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย Libor และอัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลัง ระยะเวลา 3 เดือน (TED Spread) ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะตึงตัวในตลาดเงินได้ทยอยผ่อนคลายลงตามลำดับ อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage rate) ก็เริ่มปรับตัวลงมาชัดเจนโดยเฉพาะนับตั้งแต่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการช่วยบรรเทาภาระการผ่อนชำระหนี้ให้กับผู้บริโภคสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ยังคงมีโจทย์ที่ท้าทายซึ่งจะสนับสนุนให้เฟดยังคงต้องดำเนินนโยบายเชิงปริมาณ โดยใช้มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไปอีก จนกว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเฉพาะกิจเหล่านั้นอีก ไม่ว่าจะเป็น การระดมทุนของภาคเอกชนที่ ณ ขณะนี้ก็ดูเหมือนจะยังมีความยากลำบาก เห็นได้จาก ยอดคงค้างตราสารเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Paper) ล่าสุด ที่ยังคงไม่ได้ปรับตัวกลับไปสู่ระดับเมื่อสมัยก่อนเกิดวิกฤต ในขณะเดียวกัน สภาพคล่องที่เฟดได้อัดฉีดเข้าสู่ระบบมาอย่างต่อเนื่อง แท้จริงแล้วก็ยังไม่ได้ลงไปสู่มือของภาคธุรกิจเอกชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สะท้อนได้จากการที่สถาบันรับฝากเงิน (Depository Institutions) ในสหรัฐฯ มีการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 (จาก 1.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2550 เพิ่มเป็น 767.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2551) อันเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ เพื่อที่จะแก้ไขภาวะชะงักงันของกลไกการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เฟดอาจจะพิจารณาจัดสรรวงเงินเพื่อค้ำประกันความสูญเสียที่เกิดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเพิ่มเติมอีก ในขณะที่ ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะส่งสัญญาณว่าจะดำเนินมาตรการอื่นเพิ่มเติมในระยะถัดไป โดยเฟดอาจพิจารณาแนวทางในการใช้งบดุลของเฟดโดยเฉพาะการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasuries) หรือแม้กระทั่งการซื้อหุ้นกู้เทศบาล (Muni Bonds) และหุ้นกู้เอกชน ในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วย่อมมีผลทำให้สินทรัพย์ของเฟดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เฟดคงจะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานของทางการอื่นๆ ทั้งกระทรวงการคลัง และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FDIC) ในการวางแนวทางเพื่อรับมือกับการยึดบ้านที่ติดจำนองซึ่งกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะในตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯซึ่งยังคงปรับตัวลงไปไม่ถึงจุดต่ำสุด ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีโจทย์ที่ท้าทายที่รอการแก้ไขอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการระดมสภาพคล่องของภาคธุรกิจเอกชนที่ยังมีอุปสรรค กลไกการปล่อยสินเชื่อที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และการยึดทรัพย์จำนองที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น โดยคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินเชิงปริมาณไปในแนวทางที่ผ่อนคลายต่อไป (ซึ่งบางมาตรการอาจเป็นสิ่งที่เฟดไม่เคยทำมาก่อนในอดีต อาทิ มาตรการเข้าซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ และมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายหรือที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจพิจารณาแนวทางการใช้งบดุลโดยเฉพาะการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ) ควบคู่ไปกับการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินและประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในขณะที่ ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ ประสิทธิผลของนโยบายการเงิน และการดำเนินนโยบายการคลังจากทางการสหรัฐฯผ่านการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุด โดยเฉพาะที่กำลังจะถูกผลักดันออกมาโดยทีมเศรษฐกิจของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยได้รวดเร็วและยั่งยืนเพียงใด โดยหากความสำเร็จหรือประสิทธิผลของนโยบายการเงินและการคลังซึ่งจะสะท้อนผ่านการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เกิดขึ้นได้ช้า ข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับความจำเป็นที่ทางการสหรัฐฯจะต้องดำเนินการเพิ่มเติมซึ่งย่อมตามมาด้วยภาระทางการคลังที่จะถีบตัวสูงขึ้นไปอีกนั้น ในที่สุดแล้วอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนนำมาสู่ภาวะที่ผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกได้อีกระลอกหนึ่ง