xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของ Track Record ต่อการเลือกผู้จัดการกองทุน**

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสวีบี ควอนท์ จำกัด

ข้อมูลของผลการดำเนินงานในอดีตของผู้จัดการกองทุนมักจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกกองทุนรวมของผู้ลงทุน โดยทั่วไป สิ่งที่มักจะได้รับความสนใจและถูกถามเป็นประจำ ได้แก่
“ผู้จัดการกองทุนมีผลการดำเนินงานใน 6 เดือน หรือ 1 ปีที่ผ่านมา กำไร หรือขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์?”
“เทียบกับตลาดแล้วชนะดัชนีมาตรฐานเท่าไร?”
“เทียบกับกองทุนอื่นๆที่มีนโยบายใกล้เคียงกันแล้ว ผลตอบแทนที่ทำได้อยู่ลำดับที่เท่าไร”
ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาข้อมูลทางตัวเลขเพียงอย่างเดียว เช่นพิจารณาเลือกจากอัตราผลตอบแทนที่สูงที่สุดนั้นอาจจะไม่เพียงพอในการวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของผู้จัดการกองทุนนั้นๆต่อจุดประสงค์การลงทุนของผู้ลงทุน การประเมินข้อมูลเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงคุณภาพ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนว่า ความสำเร็จของการบริหารจัดการของผู้จัดการที่เราเลือกนั้นเกิดจากความสามารถ และทักษะในเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสมจริงๆ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย สำหรับผมเห็นว่าการประเมินหรือวิเคราะห์ Track Record ที่ค่อนข้างยาว อาทิเช่น 5 ปี หรือ 10 ปี ของกองทุนหรือบริษัทจัดการก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพิจารณาอัตราผลตอบแทนล่าสุดที่ทำได้ และผมมีข้อสังเกตที่เกี่ยวกับ Track Record ที่ควรนำมาเป็นปัจจัยในการประเมินหรือวิเคราะห์ผู้จัดการการลงทุน หลายประการ ดังนี้

Track Record ที่ยาวนาน = ความเสมอต้นเสมอปลาย
โดยทางสถิติแล้ว Track Record ที่ยาวนานกว่ามักจะบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่มากกว่าในการประมาณผลการดำเนินงานในอนาคต หากเราอาศัยข้อมูลจากในอดีตของกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในปีที่แล้ว อาจจะมีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในปีนี้ก็ได้ แต่สำหรับกองทุนที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีผลประกอบการติดอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอ มีความเป็นไปได้สูงที่ในปีนี้จะยังคงสามารถมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องต่อไป

Track Record ที่ยาวนาน = เก่งทั้งขาขึ้นและขาลง
Track Record ที่ยาวนานจะช่วยผู้ลงทุนให้สามารถประเมินทักษะการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนในภาวะตลาดแบบต่างๆได้ ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์ถึงความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนทั้งในภาวะตลาดขาขึ้น (Bullish) และตลาดขาลง (Bearish) การวิเคราะห์ Track Record ที่ยาวช่วยทำให้รู้ว่าผู้จัดการกองทุนใช้กลยุทธ์อะไรในตลาดขาขึ้นซึ่งทำให้มีผลประกอบการดีกว่าตลาดโดยรวมค่อนข้างมาก หรือในสภาวะตลาดขาลง ผู้จัดการกองทุนทำอย่างไรถึงยังคงสามารถทำกำไรได้ หรือประสบภาวะขาดทุนน้อยกว่ากองทุนอื่นๆ

Track Record ที่ยาวนาน = ความสม่ำเสมอ
Track Record ที่ยาวนานช่วยลดการบิดเบือนของผลการดำเนินงานที่ผิดปกติบางปีได้ ข้อมูลอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3 ปีของกองทุน ABC ที่สูงอาจเกิดอัตราผลตอบแทนที่สูงมากของปีใดปีหนึ่งได้ แต่ถ้าหากเราพิจารณาข้อมูลเฉลี่ยโดยใช้ข้อมูลย้อนหลังที่นานขึ้น อาทิเช่น 10 ปี ถึงแม้ว่าจะมีปีใดปีหนึ่งที่สูง หรือต่ำผิดปกติ ค่าเฉลี่ย 10 ปีก็จะไม่ถูกทำให้บิดเบือนไปมากนัก ทำให้สามารถตัดสินใจได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น

Track Record ในประเด็นอื่นๆ นอกจากตัวเลขกำไรขาดทุนก็มีความสำคัญเช่นกัน อาทิเช่น

นอกจากระยะเวลา อย่าลืมลักษณะกองทุนที่เคยบริหารด้วย
ประสบการณ์ในการบริหารจัดการการลงทุนกองทุนที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกันมาก่อนมีความสำคัญเช่นกันในการประเมิน หากผู้จัดการกองทุนเคยแต่มีประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเงินลงทุนขนาดเล็ก อาทิเช่น ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอาทิเช่น หุ้นเก็งกำไร ผู้ลงทุนคงไม่สามารถใช้ Track Record ดังกล่าวเพียงอย่างเดียวในการตัดสินใจมอบหมายให้ผู้จัดการกองทุนดังกล่าวมาบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสาร หรือหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และมีความเสี่ยงต่ำ ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมขนาดหลายพันล้านบาทที่มีจุดประสงค์สำคัญในเรื่องการรักษาเงินต้น และให้ลงทุนได้เฉพาะหุ้นที่มีพื้นฐานดี หรือตราสารหนี้ เป็นต้น

บริษัทจัดการกองทุนที่ดี + ผู้จัดการกองทุนที่เก่ง = ผลการดำเนินงานที่ดี
อีกปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณา ได้แก่ Track Record ของบริษัทจัดการลงทุนนั้นๆในการรักษา และสร้างทรัพยากรบุคคลใหม่ๆอย่างต่อเนื่องทางด้านการบริหารจัดการกองทุน เป็นการยากที่บริษัทจัดการกองทุนจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง หากผู้บริหารและผู้จัดการกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น Track Record ที่ดีเยี่ยมของกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดย นายสมชาย โชคช่วย ไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆที่บ่งบอกถึงโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต ถ้าหากก่อนหน้านี้กองทุนดังกล่าวบริหารจัดการโดย นายสมปอง ฝีมือดี

วินัยการลงทุน
การปฏิบัติตามกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนอย่างเคร่งครัด (Discipline) ของผู้จัดการกองทุน เป็นปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญที่ต้องถูกพิจารณาในการประเมินผู้จัดการกองทุน Discipline หมายถึง วิธีการลงทุนที่เป็นระบบที่ผู้จัดการกองทุนนำไปใช้เพื่อประยุกต์กลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของภาวะเศรษฐกิจและตลาดการลงทุน ถึงแม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างอยู่บ่อยๆของผู้จัดการกองทุนว่ามีการปฏิบัติอย่างมี Discipline แต่ในความเป็นจริงแล้ว Discipline เป็นสิ่งที่ยากในการปฏิบัติอย่างมาก เนื่องจากผู้จัดการกองทุนมักตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ตนเองมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดี ทำให้บ่อยครั้งผู้จัดการกองทุนทำการเปลี่ยนกลยุทธ์ที่ตนเองกำลังใช้อยู่อย่างกะทันหันเนื่องมาจากความผันผวนระยะสั้น แทนที่จะยังคงดำเนินกลยุทธ์เดิมที่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนมาแล้ว อย่างไรก็ตาม Discipline ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเปลี่ยนวิธีการลงทุนเลย เนื่องจากตลาดการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งบางครั้งค่อนข้างรวดเร็ว ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือวิธีการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงไม่ควรที่จะถี่เกินไป หรือเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกินไปจนดูเหมือนไม่อยู่กับร่องกับรอยจนหมดความน่าเชื่อถือ
กำลังโหลดความคิดเห็น