xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยหุ้นระยะยาว70/30แชมป์ผลตอบแทนLTFรอบ1เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 หากมองย้อนกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังคงแกว่งตัวและผันผวนอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะปรับขึ้นบ้างจากการตอบรับข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้น ข่าวตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ก็เข้ามาเป็นปัจจัยลบกดดัน ทำให้การลงทุนในหุ้นยังจับทางไม่ได้
 และจากปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยเฉพาะกองทุนหุ้นอย่างไรบ้าง คอลัมน์ "Best of Fund" จึงหยิบเอารายงานผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) มารายงานให้ทราบว่า เป็นอย่างไรบ้าง แล้วกองทุนไหนให้ผลตอบแทนเป็นอันดับหนึ่ง และมีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรบ้าง
 สำหรับ กองทุนที่ให้ผลตอบแทนมาเป็นอันดับ 1. คือ กองทุน กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว70/30 ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยผลการดำเนินงานของกองทุนในรอบเดือนมกราคม กองทุนให้ผลตอบแทนอยู่ที่ -0.58% สูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน -2.73% อยู่ที่ 2.15%
 ส่วนอันดับ 2  กองทุนเปิดอเบอร์ดีนหุ้นระยะยาว ของบลจ.อเบอร์ดีน โดยผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 เดือนอยู่ที่ -0.72% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 2.01% 
 อันดับ 3 กองทุนเปิดหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล 70/30 ของบลจ.อยุธยา ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 เดือนอยู่ที่ -0.89% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.84%
 อันดับ 4 กองทุนเปิด เค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟ หุ้นระยะยาวปันผล ของบลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 เดือนอยู่ที่ -1.09% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.64%
  อันดับ 5 กองทุนเปิดไทยพานิชย์หุ้นระยะยาว เอ็มเอไอ ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ด้วยผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ -1.26% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.47%
 อันดับ 6 กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาวทวีกำไร ของบลจ.แอสเซทพลัส ซึ่งกองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 เดือนอยู่ที่ -1.31% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.42%
 อันดับ 7 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวอินเตอร์ ของบลจ.ไทยพาณิชย์ โดยผลการดำเนินงานของกองทุนในรอบเดือนมกราคม กองทุนให้ผลตอบแทนอยู่ที่ -1.38% สูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.35% 
  อันดับ 8 กองทุนเปิดหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล ของบลจ.อยุธยา ด้วยผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ -1.39% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.34%
  อันดับ 9 กองทุนเปิด ฟิลลิป หุ้นระยะยาวของบลจ.ฟิลลิป ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 เดือนอยู่ที่ -1.40% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.33%
อันดับ 10 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีโกลบอลหุ้นระยะยาวของบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) โดยกองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 เดือนอยู่ที่-1.53% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 1.20%
 เปิดพอร์ตกองทุนอันดับ1
 ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด ให้ความเห็นว่า มุมมองของเราในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัพไซด์เอง ยังจำกัดอยู่จากตัวเลขเศรษบกิจที่ไม่ดี และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นลบอยู่ ดังนั้น ตลาดหุ้นจึงมีทิศทางเป็นไซด์เวย์มากกว่า
 ทั้งนี้ จากทิศทางดังกล่าว เราจึงเน้นการบริหารจัดการกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว70/30 แบบแอกทีฟ นั่นคือหาประโยชน์จากการแกว่งตัวของตลาด หากหุ้นตัวไหนปรับเพิ่มขึ้น ก็จะเทคโพรฟิต ขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งการลงทุนของกองทุนในปัจจุบัน ในพอร์ตประกอบด้วยหุ้นตัวใหญ่ด้วย และรวมถึงหุ้นความมั่นคง ปลอดภัยสูง และมีอัตราการจ่ายปันผลดีต่อเนื่อง
 "ตอนนี้ ความแน่นอนของตลาดทุนยังไม่มี และยังต้องอาศัยเงินจากต่างชาติไหลเข้ามา ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเห็นการโยกการลงทุนไประหว่างทรัพย์สินหนึ่งไปอีกทรัพย์สินหนึ่ง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวะของตลาด ซึ่งกลยุทธ์ของเราเอง ก็จะเน้นติดตามภาวะการลงทุนในตลาดโลกเป็นหลัก"
  ส่วนพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ ปัจจุบันกองทุนนี้แทบจะไม่การการลงทุนในตราสารหนี้เลย เนื่องจากเรามองว่ามีอัพไซด์ไม่มากแล้วหลังจากนี้  ดังนั้น จึงถอยออกมา ทำให้พอร์ตการลงทุนของกองนี้ จึงมีหุ้นเป็นหลัก โดยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 70% ของพอร์ต ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะตลาด บางครั้งอาจจะลดสัดส่วนลงไป 50% หรือบางครั้งก็อาจจะขยับขึ้นไปถึง 80% ของพอร์ต
 สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว70/30 มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนที่ดี และ/หรือตราสารแห่งทุน ซึ่งผลตอบแทนของตราสารดังกล่าวอ้างอิงกับผลตอบแทนของหุ้นหรือกลุ่มหุ้นของบริษัทจดทะเบียน แต่ไม่รวมการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นหุ้น/ดัชนีหุ้นของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน รวมทั้งลงทุนในตราสารทุน ตราสารแห่งหนี้ในประเทศ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตลอดจนหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน และตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structure Note)
กำลังโหลดความคิดเห็น