ผู้จัดการกองทุนประสานเสียง หุ้ยไทยส่งสัญญาณบวก ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ "เอสซีบี ควอนท์ " ลุ้นนักลงทุนต่างชาติ ลดสัดส่วนถือเงินสด-ตราสารหนี้ โยกเงินลงทุนตลาดหุ้นแทน ระบุหุ้นพลังงาน ยังเป็นพระเอก ได้อานิสงส์ราคาม้ำมันดีดกลับ มั่นใจทั้งปีนี้ หุ้นสร้างผลตอบแทนเป็นบวกแน่นอน ด้วย"เอวายเอฟ" เชื่อ ปลายไตรมาสแรก ตลาดจะเริ่มตอบรับมาตรการการเงิน-การคลัง
นายอรุณศักดิ์ จรูญวงศ์สีนิลมล ผู้อำนวยการสายงานจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอสซีบี ควอนท์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะสามารถปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยหลังจากภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งอาจจะเป็นการปรับตัวขึ้นหรือลดลงเพียงเล็กน้อย และอาจจะไม่มากเท่าก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้ การปรับตัวของตลาดหุ้นถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีกันการลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงนั้น มีปัจจัยมาจากการที่นักลงทุนชาวต่างชาติทั่วโลกเทขายหน่วยลงทุน เพื่อถือเงินสดมากกว่าลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศสหรัฐอเมริการเกิดปัญหาวิกฤตการเงินเกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก โดยจากแรงเทขายหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง และเพื่อความปลอดภัยของการลงทุนนักลงทุนจึงเทขายหน่วยลงทุนเพื่อถือเงินสดเเทนการลงทุน แต่บริษัทมองว่าในช่วงต้นไตรมาสแรกของปีนี้ แรงเทขายหน่วยลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะลดน้อยลง และอาจจะเริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นบ้างแล้ว โดยผู้จัดการกองทุนส่วนมากจะมองว่าตลาดหุ้นจะไม่ปรับตัวลดลงไปมากเท่ากับปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน ผู้จัดการกองทุนจะเริ่มมองการลงทุนในกองทุนหุ้นใหม่ หลังจากการที่ก่อนหน้านี้ได้ลดการสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นเป็นการถือเงินสด หรือหันไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น โดยผู้จัดการกองทุนมองว่า การลงทุนในตลาดหุ้นหลังจากนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งคาดว่ามูลค่าตัวหุ้นจะไม่ปรับตัวลดลงไปมากเท่ากับช่วงที่ผ่านมาอีกแล้ว และหลังจากนี้ตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลก ออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตนให้ดีขึ้น ถือเป็นข่าวดีที่ช่วยให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นผลดีให้ตลาดหุ้นได้รับอานิสสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และเมื่อดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้อาจจะมีการขายตราสารหนี้เพื่อกลับมาลงทุนในกองทุนหุ้นอีกครั้ง และจากการที่ตราสารหนี้ปรับตัวลดลงมา ส่งผลให้ความต้องการที่จะถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนลดน้อยลงไปด้วย
นายอรุณศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากราคาน้ำมันที่เริ่มจะปรับตัวดีขึ้นมา หลังจากที่ปรับลดลงไปต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ 30-40 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานในช่วงที่ผ่านมาไม่ดีมากนัก แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันเริ่มคงที่การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงถือว่ามีความน่าสนใจมากกว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยดูได้จากช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนในกลุ่มธนาคารยังคงให้ผลตอบแทน แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มนี้เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มพลังงานจะพบว่าหุ้นกลุ่มธนาคารมีการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3-5% เท่านั้น
"ช่วงแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงค่อนข้างแรงมาก โดยรวมต้นปีนี้ตลาดจะเริ่มดูดีกว่าในช่วงปลายปีที่ปรับตัวลดลงมาก แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ จะยังคงเป็นบวกมากกว่าที่จะเป็นลบ และตลาดหุ้นจะดีกว่าในปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากหลังจากนี้นักลงทุนจะหันกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนอย่างแน่นอน" นายอรุณศักดิ์กล่าว
เอวายเอฟมองQ1ตลาดหุ้นฉลุย
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสเเรกของปี 2552 ว่า ในเดือนมกราคมนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย น่าจะดีกว่าเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไทยได้รัฐบาลใหม่ ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่เหลือเพียงเเค่เสนอคณะรัฐมนตรีเเละประกาศใช้นโยบาย ซึ่งตลาดทุนน่าจะมีปฏิกริยารับข่าวดีดังกล่าวก่อน ขณะเดียวกันนากยกรัฐมนตรีของไทย เเละประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะเข้ารับตำเเหน่งใหม่ น่าจะทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนเเปลงไปในทางที่ดี ทั้งนี้ นโยบายการคลัง เเละการเงิน จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งหากไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรุนเเรงอีกครั้งในวันที่ 16 มกราคม 2551 นี้ ก็น่าจะเป็นมาตรการทางการเงินที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เเต่ในทางกลับกันผู้ที่ดูเเลนโยบายทางเศรษฐกิจควรที่จะหามาตรการอื่นที่เข้ามาเสริมนอกจากนโยบายการเงินเเละการคลัง
"ตอนนี้มาตรการทางการเงินเริ่มจะมีให้เห็นบ้างเเล้ว โดยเฉพาะการที่รัฐชะลอการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนระดมเงินในตลาดเงินได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการระดมเงินต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ จะส่งผลให้ตลาดทุนมีการเปลี่ยนเเปลงไปในทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าประมาณเดือนมีนาคมนี้ตลาดเงินเเละตลาดทุนจะมีความเข้มข้นมากขึ้นจากนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล" ประภาส กล่าว
ขณะเดียวกัน จากการที่บลจ. ได้ออกมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อนการเลี้ยงชีพ(RMF) เเละกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนมากขึ้น ประกอบรัฐบาลชุดก่อนมีมาตรการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 700,000 บาท รวมถึงราคาหุ้นที่ต่ำกว่าราคาพื้นฐาน ทำให้นักลงทุนทยอยซื้อหน่วยลงทุน โดยเมื่อเทียบกับขนาดกองทุนในปี 2551 ที่ผ่านมานั้นไม่ใหญ่เท่าที่ควร เนื่องจากตลาดหุ้นมีความผันผวนทำให้มูลค่าหน่วยลงทุน( NAV ) ลดลง เเต่เมื่อเทียบกับปี 2550 นั้น บลจ.อยุธยามีจำนวนหน่วยลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะเข้าใจดีว่าการลงทุนในหุ้นนั้นจะมีการขาดทุนบ้างกำไรบ้าง ที่ผ่านมาก็อาจมีขาดทุนเนื่องจากตลาดหุ้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายในประเทศ เเละปัจจัยเศรษฐกิจโลก ซึ่งการลงทุนในกองทุน RMFเเละ LTF จะต้องลงทุนตั้งเเต่ 5 ปีขึ้นไปตามเงื่อนไขของสรรพากร โดยการลงทุนลักษณะนี้จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นได้
ด้านรายงานข่าวของ บลจ. อยุธยา เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกองทุนRMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเเละกองทุน LTF สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยกองทุนอยุธยาหุ้นปันผลเพื่อการเลี้ยงชีพ มีผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -17.20% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 7.37% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ -24.57% ส่วนผลตอบเเทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -26.66%สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง14.5% โดยมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ -41.46%
ขณะที่กองทุนอยุธยาอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -18.67%สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง -5.9% ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -34.16% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ -7.3% ส่วนกองทุนอยุธยา SET 100 เพื่อการเลี้ยงชีพ ให้ผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 24.47% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพียง 0.73% โดยเกณฑ์มาตรฐานดัชนี SET 100 อยู่ที่ -25.20% เเละผลตอบเเทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -41.40% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเเพียง -1.84%
ขณะที่กองทุนหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล มีผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -18.54% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 6.03% ส่วนผลตอบเเทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -28.34% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 14.01% ในขณะที่กองทุนหุ้นระยะยาวอยุธยาอิควิตี้ ให้ผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -18.62% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพียง 5.95% โดยผลตอบเเทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -34.30% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 7.26%
เเละกองทุนหุ้นระยะยาวอยุธยา SET 50 มีผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -23.84% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพียง 0.31% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐาน SET 50 อยู่ที่ -24.15% ทางด้านผลตอบเเทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -41.02% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพียง 1.33% โดยมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ -42.35%