xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจไทยปี 52 เผชิญความเสี่ยงสูง สัญญาณปัญหาการว่างงานเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เผชิญกับวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการต่างๆ ในตลาดทั่วโลกสูญหายไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน หลังจากปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐ อันเนื่องมาจากสินเชื่อซับไพรม์ ได้ลุกลามส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง สร้างความสูญเสียในระบบการเงินโลกสูงขึ้นไปถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตามการประเมินล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ซึ่งระบุไว้ในรายงานเมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่แผ่ขยายกว้างออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่งผลให้ IMF ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 นี้ลงมาที่ร้อยละ 0.5 (จากประมาณการเดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.2) ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือกว่า 60 ปี สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกส่งผลต่อภาวะการมีงานทำของแรงงานในหลายประเทศทั่วโลก และยิ่งทำให้ตลาดสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่มีความจำเป็นน้อย เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มียอดขายลดลงเป็นประวัติการณ์ และภาวะดังกล่าวนี้กระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจส่งออกของไทย

การว่างงานในเดือนธันวาคม ... เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนคน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขการว่างงานล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2551 มีจำนวนผู้ว่างงาน 538,500 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้น 220,000 คนจากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2551 ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นเดือนที่อัตราการว่างงานลดลง นอกจากผู้ว่างงานจะเพิ่มจำนวนขึ้นแล้ว ในกลุ่มผู้มีงานทำยังมีผู้ทำงานไม่เต็มเวลา (ทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน) เพิ่มขึ้น 103,000 คน สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผู้มีงานทำลดลง ที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง การผลิตสิ่งทอ การผลิตขั้นมูลฐาน การฟอกหนังและตกแต่งหนัง การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ การพิมพ์โฆษณา การผลิตกระดาษ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานลดลงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคหลักๆ ของโลก

แนวโน้มการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นแตะ 1.5 ล้านคน

จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การว่างงานมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยตามสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย การส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวลงร้อยละ 7.0-12.0 ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจต่ำเพียงร้อยละ 0.0-1.2 ในกรณีดังกล่าว คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาจมีระดับประมาณร้อยละ 55.0-56.8 จากร้อยละ 69.3 ในปีก่อนหน้า ซึ่งจะนับเป็นระดับการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และคาดว่าจะส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานในปี 2552 อาจมีระดับขึ้นไปใกล้หรือเกินกว่า 1.5 ล้านคน

หากพิจารณาเป็นรายประเภทธุรกิจ ธุรกิจที่มีตลาดส่งออกหดตัวลงอย่างรุนแรง รวมถึงธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการขนส่งเพื่อการส่งออก เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะลดการจ้างงานลงมากที่สุดในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ตามทิศทางภาวะยอดขายที่คาดว่าจะยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 87,000-116,000 คน อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ประมาณ 49,000-70,000 คน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ประมาณ 115,200-153,600 คน เฟอร์นิเจอร์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ประมาณ 56,400-94,000 คน ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว ประมาณ 40,000-72,000 คน ธุรกิจขนส่ง โดยสารและคมนาคมอื่นๆ ประมาณ 65,000-100,000 คน สำหรับธุรกิจอื่นๆ เมื่อคำนึงถึงแรงงานบางส่วนที่ไหลกลับเข้าไปทำงานในภาคเกษตรกรรมแล้ว จะมีจำนวนผู้ว่างงานรวมสุทธิประมาณ 103,750-105,200 คน โดยคาดว่าการดูดซับแรงงานโดยภาคเกษตรอาจน้อยกว่าระดับเฉลี่ยของปีก่อนๆ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง รวมทั้งความต้องการพืชผลการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลง ทำให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่สภาพอากาศจะแห้งแล้ง

นอกจากนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่คาดว่าจะว่างงานมีจำนวนประมาณ 158,000-184,000 คน เมื่อรวมกับผู้ว่างงานที่มีอยู่แล้วในระบบประมาณ 540,000 คน คาดว่าจำนวนผู้ว่างงานสุทธิในช่วงครึ่งแรกปี 2552 อาจขึ้นไปที่ระดับ 1.28-1.52 ล้านคนในบางเดือน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 3.4-4.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด นับเป็นอัตราที่สูงสุดตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยช่วงเวลาที่ปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุด อาจเป็นช่วงประมาณต้นไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จำนวนผู้ว่างงานจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุผลด้านฤดูกาล ที่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ภาคเกษตรกรรมสามารถดูดซับแรงงานว่างงานตามฤดูกาลกลับเข้าไปทำงานได้มากขึ้น และผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ทยอยได้งานทำ

โดยสรุป จากสัญญาณการว่างงานที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ประกอบกับภาคธุรกิจส่งออกจะยังคงมีแนวโน้มถูกกระทบหนักจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสถดถอยรุนแรงมากขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเลิกจ้างในภาคธุรกิจแผ่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสแรก ปี 2552 เป็นช่วงที่การว่างงานตามฤดูกาลจะสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูที่ทำการเกษตรกรรม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการว่างงานในไตรมาสแรกจะสูงขึ้นมาเกิน 1 ล้านคน จาก 538,500 คนในเดือนธันวาคม 2551 และเมื่อรวมกับการทยอยเลิกจ้างในภาคธุรกิจในเดือนต่อๆ มา ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่คาดว่าจะว่างงานประมาณ 158,000-184,000 คน ก็คาดว่าในช่วงที่ปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุด จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.28-1.52 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 3.4-4.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด นับเป็นอัตราที่สูงสุดตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวลงร้อยละ 7.0-12.0 ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจต่ำเพียงร้อยละ 0.0-1.2

ด้านอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะลดการจ้างงานในระยะเดือนถัดๆ ไป ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง อุตสาหกรรมโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การขนส่งและคมนาคม เป็นต้น ปัญหาการว่างงานอาจจะเข้าขั้นรุนแรงที่สุดประมาณช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จำนวนผู้ว่างงานจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุผลด้านฤดูกาล ที่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ภาคเกษตรกรรมสามารถดูดซับแรงงานว่างงานตามฤดูกาลกลับเข้าไปทำงานได้มากขึ้น และผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ทยอยได้งานทำ ขณะที่ในกรณีที่มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลบังเกิดผล และการส่งออกผ่านพ้นช่วงถดถอยต่ำสุดไปได้ อาจมีการจ้างงานกลับเข้ามาจากภาคธุรกิจและโครงการของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัวและการฟื้นตัวล่าช้าออกไป ปัญหาการว่างงานจะเป็นภาระหนักสำหรับรัฐบาลที่ต้องเพิ่มมาตรการเยียวยาแก้ไขผลกระทบในขอบเขตที่กว้างขวางและกินระยะเวลายาวนานขึ้น

ในระยะจากนี้จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ปัญหาการว่างงานคงจะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมแผนมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าหากรัฐบาลจะมีมาตรการชุดใหม่ออกมา ควรให้เป็นมาตรการมุ่งไปที่การสร้างงานโดยตรงเพื่อรองรับผู้ว่างงาน ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อเนื่องและยั่งยืนมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจต้องมีการแผนการจัดหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างผู้ว่างงาน (ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งรัฐบาลจ้างโดยตรง หรือการให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่มีจ้างงานตามแนวนโยบายของรัฐบาล) ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ว่างงานที่มีทักษะความรู้ อาจหาช่องทางให้มีการสร้างงานที่สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยงแรงงานเหล่านั้นเข้ากับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนของรัฐบาล ให้เกิดการพัฒนาชุมชนหรือต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์สำหรับชุมชนท้องถิ่น

กำลังโหลดความคิดเห็น