xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนปีฉลูไม่ฉลุย แนวโน้มชะลอตามเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 7 มกราคม 2552 เพื่อพิจารณากรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจัดสรรการใช้จ่ายงบประมาณกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการช่วยเหลือครอบคลุมเรื่องหลัก คือ การแก้ปัญหาการว่างงานโดยใช้ช่องทางกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงและการฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนว่างงาน และการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคเอกชนโดยการใช้มาตรการทางภาษี มาตรการสินเชื่อ หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ มาตรการเหล่านี้ แม้ว่าอาจช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนได้ แต่อาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยตรงได้มากนัก เนื่องจากหลายๆ มาตรการ เช่น การช่วยเหลือคนว่างงานและการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ถูกออกแบบเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยตรง ในขณะที่มาตรการทางภาษีและมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจก็อาจมีผลที่ค่อนข้างจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ภาวะการลงทุนในอนาคต ดังต่อไปนี้...

แนวโน้มการลงทุนปี 52.. การลงทุนภาคเอกชนฉุดยอดการลงทุนรวม
จากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งลุกลามทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง ทั้งในส่วนของการลงทุนในโครงการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิตณ เดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 66.4 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ คือ ลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 74.4 พิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มเหล็ก เคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึงประมาณร้อยละ 20

ขณะที่ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงร้อยละ 7.2 ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและดัชนีการผลิตซึ่งมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องหมายความว่าอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ ทำให้คาดได้ว่าในอนาคตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะยังไม่มีแผนในการสร้างโรงงานใหม่ หรือซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มเพื่อขยายการผลิต

2) ภาวะสินเชื่อตึงตัวทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ และการตึงตัวของตลาดสินเชื่อโลก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้สถาบันการเงินมีการปรับลดเป้าสินเชื่อและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับบุคคลและธุรกิจมากขึ้น ภาวะตึงตัวของสินเชื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจที่มีสภาพคล่องทางการเงินไม่มาก และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประสบความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนเพิ่ม ทำให้ต้องเลื่อนโครงการต่างๆ ออกไป

3) ผลประกอบการและแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ โดยในปี 2552 คาดว่าจะมีคนว่างงานเป็นจำนวนมากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าอาจต้องใช้เวลา ซึ่งอาจเป็นปี 2553 กว่าที่การส่งออกและเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ดังนั้นสำหรับบริษัทที่เดิมมีแผนที่จะขยายการผลิตก็มีแนวโน้มที่อาจจะชะลอการลงทุนออกไปในช่วงนี้เพื่อรอดูสถานการณ์

ภาพรวมการลงทุนในปี 2552 แม้คาดว่าการลงทุนภาครัฐน่าจะขยายตัวได้ แต่เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่าการลงทุนโดยรวมในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.4 ถึงร้อยละ 3.4 โดยมีสมมติฐานกรอบบนของประมาณการที่คาดว่าการลงทุนจะหดตัวร้อยละ 1.4 อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศ ทำให้เกิดการผลักดันนโยบายรวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร ขณะที่กรอบล่างของการประมาณการที่คาดว่าการลงทุนจะหดตัวลงร้อยละ 3.4 นั้น เป็นในกรณีที่การเบิกจ่ายของภาครัฐมีความล่าช้า ซึ่งเมื่อประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ผลกระทบต่อไทยในแง่ของธุรกิจและผู้บริโภคอาจมีความรุนแรงมากขึ้น

เอกชนลงทุนน้อยลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะลดลงจากปี 2551 โดยในด้านการก่อสร้างคาดว่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างภาคเอกชนจะลดลงประมาณร้อยละ 5.0 ถึงร้อยละ 7.5 จากที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 0.8 ในปี 2551 โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการชะลอตัวของการลงทุนสร้างโรงงานของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ คาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 6.5 ถึงร้อยละ 7.5 เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูงประกอบกับแนวโน้มคำสั่งซื้อในอนาคตและผลประกอบการธุรกิจอาจอ่อนแอลง

ด้านของการลงทุนภาครัฐ แม้ว่าสถานการณ์การเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทำให้การเมืองมีความชัดเจนขึ้น แต่ในปี 2552 ความเสี่ยงทางการเมืองก็จะยังเป็นปัจจัยผันแปรที่สำคัญต่อการลงทุน โดยในกรณีที่รัฐบาลมีเสถียรภาพและไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนภาครัฐอาจขยายตัวได้อยู่ในช่วงร้อยละ 10.0 ถึงร้อยละ 13.0 ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนที่จะจัดทำงบประมาณกลางปี 2552 จำนวน 100,000 ล้านบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 300,000 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

อย่างไรก็ตามขั้นตอนของการอนุมัติและการเบิกจ่ายจะต้องใช้เวลากว่าที่เม็ดเงินจะไหลเข้ามาสู่ระบบจริง และยังต้องรอดูรายละเอียดการจัดสรรกรอบการใช้งบประมาณใหม่และมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลจะประกาศต่อไป นอกจากนี้ในการตั้งงบประมาณและการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ข้อจำกัดด้านการคลังด้านการก่อหนี้สาธารณะ และรายได้ภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลงในปีหน้า จะทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการตั้งงบประมาณขาดดุล ซึ่งทำให้รัฐควรต้องพิจารณาผลักดันโครงการที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำให้เกิดผลได้อย่างรวดเร็วก่อน

ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ แนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับภาวะที่ตลาดเงินตึงตัวที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอาจมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้นักลงทุนที่ไม่เคยมีการลงทุนในไทยมาก่อนอาจสูญเสียความเชื่อมั่นไปบางส่วน อย่างไรก็ดีการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งจะมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2552 จะเป็นปัจจัยที่อาจช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตและกลุ่มที่มีแผนการลงทุนระยะยาวในภูมิภาคให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 อาจจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 400,000 – 500,000 ล้านบาทในปี 2551 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอตั้งเป้าหมายมูลค่าส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 650,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่อาจถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น