ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ.กรุงไทยตั้งเป้าเอยูเอ็มปีนี้ 15% หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท เตรียมใช้กองทุนส่วนบุคคล และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสริมทัพ พร้อมเน้นให้ความรู้เรื่องการลงทุนกับลูกค้ามากขึ้น ล่าสุดเตรียมยื่นเเรื่องจัดตั้งกองอสังหาริมทรัพย์ให้ก.ล.ต. พิจราณา
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวถึงสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร หรือ เอยูเอ็ม ในปี2552 ว่าปีนี้ บลจ.เราตั้งเป้าไว้ประมาณ 220,000ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 15% ซึ่งเป็นเป้าที่โตกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยปีนี้เราจะมุ่งให้บริการทางด้านการลงทุนครบรูปแบบ ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเราจะเน้นให้คำแนะนำพร้อมกับให้ความรู้เรื่องการลงทุนให้กับลูกค้า
ในส่วนของกองทุนรวมนั้น เรามีการขายกองทุนตราสารหนี้โรโอเวอร์หรือกองทุนที่ครบอายุทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่อยากให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลงเช่นนี้ ซึ่งมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในประเทศ และกองทุนที่ลงทุนในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย ประกอบกับ บลจ.ได้เปิดขายกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) อีกกองทุนหนึ่งคือ กองทุนเปิดเคแทม อินเวสเมนท์ เลเจนด์ ฟันด์ ที่เน้นลงทุนในหุ้น และสินค้าคอมมอนิตี อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะยังคงชะลอตัว อาจจะส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ก็ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในช่วงขาลง ซึ่งการออกกองทุนเพื่อมาระดมเงินออม แข่งกับธนาคารนั้นก็เป็นไปค่อนข้างลำบาก เพราะผลตอบแทนค่อนข้างใกล้เคียงกัน ขณะที่ต่างประเทศเองก็ยังคงมีความผันผวนอยู่ ทำให้นักลงทุนพยายามหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยและให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นทางออกที่ดี ซึ่งในครึ่งปีหลังที่เหลือนี้เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น
สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นโรงเเรม ในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งกองทุนดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต)
“ตอนนี้บลจ.กรุงไทยกำลังจะมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังยื่นเรื่องให้ก.ล.ต พิจาณาอยู่ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่เราเลือกไว้เป็น โรงแรมที่พัทยา ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเราจะเน้นเรื่อง employee' s choice เป็นหลัก ” นายสมชัย กล่าว
ขณะเดียวกันนายสมชัย กล่าวถึงภาวะการลงทุนตราสารหนี้อีกว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 1.45-1.55% โดยปริมาณความต้องการตราสารระยะสั้นยังมีอยู่มาก เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Default Risk) และด้านราคา (Market Risk) ค่อนข้างต่ำ รวมถึงการคาดการณ์ว่าในการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 25 ก.พ. นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% - 0.50% จากระดับปัจจุบันที่อยู่ในอัตรา 2.00% ต่อปี
ทั้งนี้บลจ.กำลังจึงเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้อีก 2 กองทุน ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 3เดือน 2 (KTSIV3M2) และ กองทุนรวมกรุงไทยตราสารต่างประเทศ 6เดือน 20 ( KTFIF6M20 ) เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 โดยกองทุน KTSIV3M2 อายุโครงการ 3 เดือน มูลค่า 2,000 ล้านบาท มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูง และเงินฝากสถาบันการเงิน โดยกองทุนจะลงทุนใน ตั๋วแลกเงินของบมจ.น้ำตาลมิตรผล ในสัดส่วน 23% บมจ.ภัทรลีสชิ่ง 12% บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 25% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ทำให้กองทุนได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 2.00% ต่อปี
ส่วนกองทุน KTFIF6M20 อายุโครงการ 6 เดือน มูลค่า 3,000 ล้านบาท มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐต่างประเทศ หรือเงินฝากในสถาบันการเงินที่มีคุณภาพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือ บริษัทอาจพิจารณาลงทุนบางส่วนในประเทศ โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย ตามที่คณะกรรมการก.ล.ต.กำหนด นอกจากนี้ เงินลงทุนจะมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และการลงทุนในกองทุนจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของบลจ.กรุงไทย ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2551 อยู่ที่ 1.28 แสนล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมกองทุนรวม 8.37% เทียบกับเอยูเอ็มของปีก่อนหน้านี้พบว่าในปี 2551 เอยูเอ็มลดลงเพียงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 อยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.54% ขณะที่เอยูเอ็ม ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในไตรมาส 4 ของปี 2551 อยู่ที่ 61,472 ล้านบาท มีจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริหารอยู่ 31 กองทุน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 นั้นพบว่าในปี 2551 นั้นลดลงเพียงเล็กน้อยเช่นกัน ซึ่งไตรมาส 4 ของปี 2551 มีสินทรัพย์อยู่ที่ 71,374 ล้านบาท และมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริหารอยู่ 32 กองทุนด้วยกัน