xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มาตรการรัฐ...เจ๋งหรือเจ๊ง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมาพบว่า โดยรวมแล้วยังคงชะลอตัวลงอย่างชัดเจนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีโอกาสสูงที่จะติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
 เบื้องต้น คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ -2.5% ถึง -1.5% yoy...โดยปัจจัยของการชะลอตัวในครั้งนี้ ยังคงมาจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปทานและอุปสงค์ ที่ต่างส่งสัญญาณถึงความอ่อนแอต่อเนื่อง ขณะที่ในด้านอุปทาน ปัญหาการชะลอตัวของภาคการส่งออกได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเป็นประวัติการณ์ ที่หดตัวติดลบถึง -18.8 yoy  ส่วนในด้านเกษตรกรรมทั้งในด้านปริมาณและราคา ก็ยังคงมีการชะลอตัวลงในทิศทางเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรม
 นอกจากนั้น ในด้านของภาคการท่องเที่ยวยังคงมีการชะลอตัวลงค่อนข้างที่จะรุนแรง โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาทางด้านการเมืองในประเทศ ในขณะที่ด้านอุปสงค์ แนวโน้มโดยรวมแล้วยังคงเป็นการชะลอตัวลง โดยเฉพาะการหดตัวลดของดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลงถึง -2.6% yoy ตามระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต่ำลงอย่างมาก หลังจากช่วงการชุมนุมปิดสนามบิน
 อย่างไรก็ตาม ในด้านของดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.9% yoy แต่มองว่าจะเป็นแค่การฟื้นตัวระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากฐานที่ต่ำมากของระดับการบริโภคในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบกับทิศทางในช่วงถัดไปของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความผันผวนสูง โดยนอกจากนั้นในภาคการค้ากับต่างประเทศ สัญญาณการปรับชะลอลงอยู่ทั้งในภาคการส่งออกและการนำเข้า ตามภาวะการค้าโลกที่กำลังตกอยู่ในช่วงถดถอย
ส่วนทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น ประเมินโดยรวมแล้วในเดือนธันวาคม 2551 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งในด้านเสถียรภาพต่างประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจโดยเงินสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และยังเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 111.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.7 พันล้านดอลลาร์จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากภาคการนำเข้าเริ่มมีการชะลอตัวลงในอัตราเร่ง
 สำหรับเสถียรภาพในประเทศยัง คงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีปัจจัยเสี่ยงจากในด้านหนี้สาธารณะ ที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามนโยบายขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นของทางรัฐบาล โดยยอดหนี้สาธารณะคงค้างในสิ้นเดือนพ.ย. 2551 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 7.0 พันล้านบาท ไปอยู่ที่ระดับ 3,416 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 37.0% ของ GDP โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินเป็นสำคัญ
 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐาน ก็ยังคงมีแนวโน้มการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน โดยขยายตัวได้เพียง 0.4% yoy และ1.8% yoy ตามลำดับ เนื่องจากระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงมีการทรงตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
จับตาปัญหาว่างงานความเสี่ยง ศก.ไทย
 สถาบันวิจัยนครหลวงไทย คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค. 2552 ว่า โดยภาพรวมแล้วยังจะเป็นการถดถอยลงต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นจากการชะลอตัวลงในด้านของภาคการผลิตในประเทศ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นจากปัญหาการว่างงาน ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมกราคม 2552 จะเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาการว่างงานในตลาดแรงงานของไทย ที่จะค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ เนื่องจากประเมินว่าทางผู้ประกอบการ กำลังมีความพยายามในการลดกำลังการผลิตลง โดยส่งสัญญาณจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนล่าสุด ที่ปรับลดลงไปที่ระดับ 58.9 จาก 61.2 ในเดือนก่อนหน้า และยังเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปี นับจากเดือนพฤศจิกายน 2541โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดกำลังการผลิตลงในภาคธุรกิจส่งออก ที่คาดว่าจะเป็นภาคที่มีการปรับลดกำลังการผลิตลงมากที่สุด เพื่อตอบสนองกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่หดหายลงไป
 ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่าทางผู้ประกอบการอาจจำเป็นจะต้องมีการทยอยปลดลดคนงานออกไป เพื่อลดต้นทุนลงเพื่อช่วยประคองธุรกิจให้สามารถที่จะอยู่ต่อไปได้ หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านๆมา ยังเป็นการปรับชั่วโมงการทำงานให้น้อยลงแทน ซึ่งจะส่งผลให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆมีความเปราะบางมากขึ้น
 ในเบื้องต้น ประเมินว่าจากความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มมากขึ้นนี้ จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในเดือนมกราคม 2552 และยังอาจจะกินระยะเวลายาวไปจนตลอดช่วงไตรมาสที่1 ของปี2552 จะถูกคุกคามให้เป็นลบเพิ่มมากขึ้น
มาตรการภาครัฐคือความหวังสุดท้าย
 โดยจะสะท้อนไปสู่ตัวเลขชี้วัดในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านของภาคอุปสงค์ในประเทศ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงซื้อที่หดหายไป ทั้งจากเม็ดเงินในด้านของการท่องเที่ยวที่ลดลง และเม็ดเงินจากการที่คนงานถูกเลิกจ้างและต้องชะลอการใช้จ่ายในช่วงระหว่างที่หางานใหม่ ซึ่งทำให้ โดยสรุปแล้วมองว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2552 ที่จะประกาศออกมาจะยังคงเป็นลบเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแล้ว ความหวังของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อจากนี้ คงจะต้องอยู่ที่มาตรการที่รัฐบาลจะนำมาใช้ ว่าจะช่วยรับมือกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจต่างๆได้ดีเพียงใด ท่ามกลางความผันผวนของทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างเช่นในขณะนี้
  นอกจากนี้ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ยังได้ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (Real GDP Growth) ในปี2552 เพิ่มขึ้นไปอยู่ในกรอบ 0.5% ถึง 2.3% โดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 ชุดของรัฐบาล ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ภาคอุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเพิ่มขึ้น จากประมาณการณ์ในช่วงก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ -0.4% ถึง 1.4%
 โดยภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วง ครึ่งปีแรกของปี 52 นั้น มองว่าจะยังคงโดนกดดันจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากทิศทางการชะลอตัวลงของภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะมีการชะลอตัวลงค่อนข้างที่จะรุนแรง ตามภาวะการชะลอตัวลงของภาคการค้าทั่วโลก ประกอบกับทิศทางของภาคอุปสงค์ในประเทศ ที่ยังคงโดนกดดันจากภาวะการขาดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อทิศทางของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 52 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะลงไปหดตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2540 โดยคาดว่าจะขยายตัวติดลบโดยประมาณ -2.0 ถึง -4.0% และจะส่งผลโดยรวมให้ในช่วง ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในระดับ -1.0% ถึง -3.0%'
 ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากภาวะการถดถอยลงต่อเนื่องได้จากการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลก จะสามารถค่อยๆ หลุดพ้นจากวิกฤตได้ ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องไปถึงภาคการส่งออกของไทย ให้มีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี และนอกจากนั้นแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาคอุปสงค์ในประเทศได้อย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี
 โดยจากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 ชุดของรัฐบาล จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.9% ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2552 มีโอกาสสูงที่โดยเฉลี่ยทั้งปีแล้วจะมีการพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 0.5% ถึง 2.3% จากการประเมินในครั้งก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ -0.4% ถึง 1.4%
 ส่วนเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ สถาบันวิจัยนครหลวงไทยคาดการณ์โดยใช้สมมุติฐานว่า ทางรัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายลดค่าครองชีพเฉพาะแค่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง จากในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณการณ์อยู่บนฐานของการยกเลิกนโยบายลดค่าครองชีพลงทั้งหมด นอกจากนี้ ยังใช้สมมติฐานราคาน้ำมันใหม่อยู่ที่ระดับ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก 86.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนที่แล้ว ชะลอจากค่าเฉลี่ยในปี 2551 กว่า 40% ทำให้ทั้งหมดแล้วจากการประเมินล่าสุด ส่งผลให้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ -2.0 ถึง 0.0% ปรับลดลงจากการประเมินในเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 1.5 ถึง 3.0% และยังคาดว่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อมีการชะลอตัวติดลบได้ในบางเดือน (Deflation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี 2552 เนื่องจากประเมินว่าระดับราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2551 จะมีส่วนต่างกันอย่างมาก โดยที่คาดว่าจุดต่ำสุดของอัตราเงินเฟ้อในช่วงปี 2552 จะอยู่ที่ระดับประมาณ -4.0 ถึง -5.0% yoy
ที่มา: สถาบันวิจัยนครหลวงไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น