ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – แบงก์ชาติสรุปภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาสแรกปี 2551 ขยายตัวตามรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตขายได้ราคาสูง ขณะที่การส่งออกกระเตื้องเกินดุลกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดไตรมาส 2 เศรษฐกิจยังเติบโต 4.8-6% ตามแนวโน้มภาพรวมทั้งประเทศ
นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้บริหารส่วนส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยสรุปภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ว่าในภาพรวมมีการขยายตัว โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 17.5% ตามราคาพืชหลัก ทั้งข้าวนาปรัง มันสำปะหลังและข้าวโพด ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวในทุกหมวด ยกเว้นเครื่องดื่ม ส่วนภาคบริการมีการขยายตัว จากการจัดกิจกรรม และการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการอุปโภคบริโภคมีการชะลอตัวลง แต่ก็มีสัญญาณฟื้นตัวในตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น ยอดจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการลงทุนเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมูลค่าการลงทุนกว่า 1,057 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกและนำเข้ากระเตื้องขึ้น โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 688.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 386.8 ล้านบาท ทำให้เกินดุลการค้า 301.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกินดุล 259 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของการค้าผ่านด่านชายแดนภาคเหนือ มีมูลค่าการส่งออก 220.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 27.8 ล้านบาท เกินดุล 192.8 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้บริหารส่วนส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ว่า จากการประเมินล่าสุดคาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโต 4.8-6% เช่นเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งประเทศ ซึ่งมีปัจจัยมาจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจ ทั้งการฟื้นตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชน สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจน และการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเกินคาด
ขณะเดียวกัน มองว่าราคาพืชผลที่อยู่ในเกณฑ์ดีจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคเหนือ โดยหากมีปัจจัยที่ส่งผลให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตที่ดี ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของภาคเหนือ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน รวมทั้งปัญหาซับไพรม์ที่ส่งผลต่อประเทศคู่ค้าของไทย