เอเอฟพี – เพิ่งจะเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้เองที่วลีที่พูดกันติดปากที่สุดเมื่อเอ่ยถึงอินเดียคือ ‘มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ’ ที่อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตการเงินที่โหมกระหน่ำประเทศพัฒนาแล้วจนออกอาการลูกผีลูกคน
แต่ ‘เรื่องราวของอินเดีย’ ในวันนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ด้วยอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี และเศรษฐกิจขยายตัวช้าลง ชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยตีจากในภาวะที่มีคำเตือนแง่ลบถี่ขึ้น
แม้แต่สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลภารตะยังออกมายอมรับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปัจจัยลบมากมายกำลังคุกคามเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถูกโจมตีถึง 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ และอีกทางคือภาวะน้ำมันแพง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ไม่ว่าประเทศใดก็ไม่สามารถรอดพ้นจากหางเลขไปได้
ทัสฮาร์ พ็อดดาร์ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนแซคส์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของอินเดียที่ขณะนี้อยู่ที่ 12.44% จะยังคงปักหลักในระดับตัวเลขสองหลักจนสิ้นปีนี้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการคุมเข้มทางการเงินเพื่อต่อต้านภาวะเงินเฟ้อ แต่กลับกลายเป็นการสกัดกั้นการเติบโตภายในประเทศไปพร้อมกัน
นักเศรษฐศาสตร์บางคน คาดว่า อัตราเงินเฟ้อซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากเมื่อปีที่แล้ว อาจขึ้นไปถึงระดับ 15% เป็นอย่างน้อย
ปรากฏการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกลายเป็นสัญญาณเตือนภัยรัฐบาลโดยเฉพาะขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะมีขึ้นเดือนพฤษภาคมปีหน้า เนื่องจากประชาชนหมู่มากที่ยากจนและได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุด อาจระบายแค้นผ่านทางบัตรเลือกตั้ง
ทางการภารตระหนักดีในเรื่องดังกล่าว และได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการกับเงินเฟ้อมากกว่ากระตุ้นการเติบโต
ขณะที่ทางการ คาดว่า เศรษฐกิจปีงบประมาณปัจจุบันจะขยายตัว 7.7% ลดจาก 9% เมื่อปีที่แล้ว แต่โบรกเกอร์บางแห่งมองว่าตัวเลขอาจต่ำเพียง 7% เท่านั้น ซึ่งอันที่จริงยังถือเป็นระดับที่แข็งแกร่งหากเทียบกับการเติบโตของตะวันตกในปัจจุบัน ทว่า ก็ยังไม่มากพอที่จะฉุดคนอินเดียนับล้านออกจากความยากจน
ข้อมูลที่ตอกย้ำแนวโน้มขาลงยังรวมถึงผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพียง 5.4% ในเดือนมิถุนายน ลดฮวบจาก 8.9% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
นอกจากนั้น ยอดขาดดุลการค้ายังเพิ่มขึ้นทำสถิติ และรัฐบาลลังเลที่จะผลักภาระน้ำมันแพงไปให้ผู้บริโภค ขณะที่ราคาอาหารทะยานขึ้นส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลทางการคลังมากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกฯ มานโมหัน ซิงห์ ได้อนุมัติการปรับขึ้นเงินเดือนลูกจ้างรัฐ 5 ล้านคนเฉลี่ย 21% พร้อมปลดหนี้ให้เกษตรกรยากจนอีก 15,050 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ฟิตช์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ปรับลดแนวโน้มสกุลเงินอินเดียเป็นติดลบ โดยระบุสาเหตุว่า เป็นเพราะการขาดดุลทางการคลังที่รุนแรงยิ่งขึ้น
คำเตือนดังกล่าวทำให้การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เปลี่ยนไป จากที่เคยคิดว่าแดนโรตีจะรอดพ้นจากวิกฤตการเงินในตลาดโลก เนื่องจากเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายใน และข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจอินเดียตัดขาดออกจากบาดแผลทางการเงินของสหรัฐฯ
รัฐบาลแดนภารตะพยายามฟื้นมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจบางส่วน ด้วยการเดินหน้าปฏิรูปเป็นคำรบสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่ง
ติภัก ลัลวานี ผู้อำนวยการแอสแตร์ ซีเคียวริตี้ส์ในลอนดอน ชี้ว่า อินเดียเหลือเวลาน้อยมากและสถานการณ์ในตลาดก็ไม่เป็นใจ หลังจากอยู่ในภาวะกระทิงมานาน ปีนี้ตลาดหุ้นอินเดียกลับกลายเป็นตลาดเฟื่องฟูใหม่ขนาดใหญ่ที่มีผลงานแย่ที่สุด
ส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูปคือ แผนการระดมทุนด้วยการนำหุ้นรัฐวิสาหกิจบีเอสเอ็นแอล ซึ่งเป็นกิจการโทรศัพท์ใหญ่ที่สุดของประเทศ ออกขาย 10% คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถือเป็นการเปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ครั้งใหญ่ที่สุดของอินเดีย และทำให้สถานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น อย่างไรก็ดี แผนการนี้ยังต้องฝ่าฟันการต่อต้านจากสหภาพแรงงานบีเอสเอ็นแอล
ช่วงเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของต่างชาติดูเหมือนสิ้นสุดลงไปแล้ว หลังจากสัปดาห์ที่แล้วมีการรายงานว่า กองทุนนอกเทขายหุ้นอินเดียสุทธิ 6,520 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการซื้อสุทธิ 9,600 ล้านดอลลาร์