xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีอุตฯ ต.ค.ติดลบในรอบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ผสมโรงการเมืองไทย วุ่น ฉุดดัชนีอุตฯ ต.ค.ติดลบครั้งแรกในรอบปีนี้ ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงเพิ่มขึ้นหลังสินค้าเริ่มระบายการส่งออกได้ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบหวั่นปัญหาเศรษฐกิจพังลุกลาม จี้รัฐแก้ปัญหาปากท้องนโยบายต้องชัดเจนย้ำราคาน้ำมันลดแต่ราคาสินค้าไม่ลดตาม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อุตสาหกรรมเดือน ต.ค.2551 ลดลง 0.90% มาอยู่ที่ระดับ 180.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2550 ซึ่งถือเป็นตัวเลขติดลบครั้งแรกในรอบปี 2551 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 210.54 เพิ่มขึ้น 10.71% ทั้งนี้ สาเหตุมาจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม ได้แก่ เครื่องประดับเพชรพลอย อิเลกทรอนิกส์ และเหล็ก โดยเครื่องประดับเพชรพลอย ดัชนีการผลิตลดลงถึง 34.8% ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา มีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด จึงส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า ทั้งการผลิตและจำหน่ายลดลง ใกล้เคียงกัน คือ ลดลง 10% โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการผลิตและจำหน่ายอย่างคึกคัก ทำให้ตัวเลขฐานการคำนวณสูงจึงส่งผลต่อการลดลงที่ชัดเจนในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้มีการปรับตัว โดยการเปิดตลาดใหม่ รวมทั้งเจรจาขอเพิ่มสัดส่วนออเดอร์จากลูกค้าหลักให้สูงขึ้น

ผลิตภัณฑ์เหล็ก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า สัดส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลังต่อการจำหน่ายในผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอลง โดยผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดนั้นมาจากภาคธุรกิจการก่อสร้างไม่มีความคึกคัก และยังไม่สามารถคาดหวังกับการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลได้

**จี้รัฐไร้มาตรการแก้ปัญหาปากท้อง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำกำลังลามต่อไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกอีกหลายประเภท เช่น รถยนต์ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราได้เห็นปรากฏการณ์การเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้กันแล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากออเดอร์การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจลดน้อยลงเรื่อยๆ

แต่ท่ามกลางวิกฤตนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ แม้กระทั่งกระทรวงแรงงาน กลับยังขาดมาตรการรองรับที่ดีพอ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของการส่งออกที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับการชะลอตัวของการส่งออกเลย รวมทั้งเรื่องของสภาพเศรษฐกิจในประเทศ ระดับปากท้องของประชาชน ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามระดับการเลิกจ้างงาน ที่คนจำนวนมากจะต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงกว่ารายได้มาก ซึ่งหน่วยงานรัฐเองก็ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ นอกจากโครงการธงฟ้าราคาประหยัด ที่เหมือนจะเป็นยาวิเศษของกรมการค้าภายในที่นำมาใช้อยู่เสมอ

“หากเปรียบเทียบอาการป่วยทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้เหมือนกับมะเร็งในระยะต้น หน่วยงานรัฐก็ทำเพียงจัดหายาแก้ปวดให้เท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของนโยบายที่ไม่แน่นอน เช่น การควบคุมธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง อีกด้านหนึ่งก็ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยให้เหตุผลว่า ต้องการควบคุมห้างโมเดิร์นเทรด ไม่ให้ขายสินค้าราคาประหยัดที่ส่งผลกระทบต่อโชวห่วย แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐกลับใช้โครงการธงฟ้ามาจำหน่ายสินค้าราคาถูกจึงทำให้เกิดความสับสนของผู้ประกอบการ” แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สิ่งที่ กระทรวงพาณิชย์ ควรจะเร่งทำในขณะนี้ คือ การเข้าไปตรวจสอบต้นทุนการผลิตสินค้าทุกประเภทที่มีการขอปรับขึ้นราคาไปด้วยเหตุผลด้านต้นทุนน้ำมัน ให้มีการปรับราคาลงตามความเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการช่วยในเรื่องการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น