xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนเจเอฟ(สิงค์โปร์)ตัดขายTTA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนเจเอฟ สิงค์โปร์ ตัดขายหุ้นเดินเรือขนาดใหญ่ “โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์” -0.62% เหลือหุ้นในการครอบครองเพียง 4.9% ด้านโบรกเกอร์ระบุแนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 1 จะปรับตัวลดลง ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2 ในทิศทางเดียวกับกำลังผลิตและส่งออกเหล็กของจีน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) จาก JF ASSET MANAGEMENT (SINGAPORE) LIMITED โดยเป็นรายงานการจำหน่าย หุ้นของบริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (TTA) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ซึ่งจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายคิดเป็น -0.62% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็น 4.9%

สำหรับ TTA บล.ธนชาต ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น TTA เป็นโอกาสในการ “ขาย” หุ้นออกไป เนื่องจากเราเชื่อว่าดัชนี BDI น่าจะฟื้นตัวได้อีกไม่นาน คาดกำไรจะลดลงอย่างมากราว 81% ในช่วง ไตรมาส1/2552 ขณะที่ผลการดำเนินงานของ TTA ในช่วงไตรมาส2 เป็นไปได้ที่จะขาดทุน

โดยดัชนี BDI เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 911 จุด จากระดับต่ำสุดที่ระดับ 663 จุด ในช่วงต้นเดือนธ.ค. Sentiment ของอุตสาหกรรมการเดินเรือกำลังฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความต้องการเหล็กของจีน แต่อย่างไรก็ตามไม่เชื่อว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการนำเข้าแร่เหล็กของจีนจะลดลงมาอยู่ที่ 60 ล้านตัน ในเดือน ธ.ค.08 จาก 74 ล้านตัน ในเดือน ส.ค.แต่การผลิตเหล็กของจีนอยู่ที่ระดับเพียง 35 ล้านตันเท่านั้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจีนจะปรับลดการผลิตเหล็กลง 3% ในปีนี้ และราคาเหล็กที่ลดลงราว 20% จึงไม่คาดว่าผู้ผลิตเหล็กจะรีบเพิ่มสต๊อกสินค้า อย่างที่เคยทำในปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันแม้ว่าจะมี downside risk ต่อค่าระวางเรือในระดับต่ำ แต่ขาดปัจจัยบวกเช่นกันเจ้าของเรือกำลังพยายามที่จะขอยกเลิกคำสั่งต่อเรือใหม่ หรือยื่นขอล้มละลาย อีกทั้งอัตราการกำจัดเรือในเดือนพ.ย. ยังแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี อีกด้วย จึงเชื่อว่าค่าระวางเรือมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงในระดับที่จำกัด เนื่องจากอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับคุ้มทุนอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของการกำจัดเรือ และการยกเลิกการสั่งต่อเรือใหม่ ดูเหมือนว่าจะสามารถทดแทน ผลกระทบจากภาวะอุปทานเรือที่ล้นตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันอัตราค่าระวางเรือ โดยเฉพาะปี 2010 ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โดยระดับราคาเรือที่ลดลง 80% หมายถึงระดับ NAV ที่ 13.7 บาท/หุ้นโดยปกติแล้ว การขนส่งแร่เหล็กจะขนส่งผ่านทางเรือใหญ่ขนาด Capsize ซึ่งเป็นสาเหตุให้อัตราค่าระวางเรือในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อัตราค่าระวางเรือขนาดเล็ก (TTA อยู่ในกลุ่มนี้) ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน นอกจากนี้ราคาเรือมือสองในกลุ่มเรือขนาด Handysize ยังลดลงมากกว่า 80% จากราคาในช่วงกลางปี 2008 อีกด้วย โดยทำการคำนวณ NAV ของ TTA อย่างคราวๆ ได้ที่ระดับ 8.8 พันล้านบาท ซึ่งหมายถึงระดับราคาหุ้นของ TTA ที่ 13.70 บาท/หุ้น ในช่วงขาลงของอุตสาหกรรม ประกอบกับกำไรที่ลดลงของ TTA จึงเชื่อว่าราคาพื้นฐานของที่ 9.00 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำว่า NAV ของบริษัทฯ ราว 34% เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว

“เราคาดว่า TTA จะมีกำไรปกติจำนวน 478 ล้านบาท ในช่วง 1QFY09 ลดลง 78% q-q และ81% y-y ถึงแม้ว่าอัตราค่าระวางเรือในตลาด spot จะลดลงอย่างมาก แต่ TTA น่าจะยังคงได้รับประโยชน์จากสัญญาเช่าเรือระยะยาวของบริษัทฯ ซึ่งกำหนดอัตราค่าระวางเรือไว้ในระดับสูงไว้ตั้งแต่ต้นปี 2008 ซึ่งบางส่วนกินเวลาเช่าไปจนถึงช่วง 1QFY09 นอกจากนี้ TTA ยังบันทึกกำไรพิเศษจากการซื้อคืนหุ้นกู้มูลค่า 150 ล้านบาทอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญาระยะยาวเหล่านี้กำลังจะหมดสัญญา จึงทำให้เราคาดว่าผลการดำเนินงานของ TTA ในช่วง 2QFY09 น่าจะอ่อนตัวลงไปอีก”

วานนี้ (22ม.ค.) ราคาหุ้น TTA เปิดตลาดที่ระดับ 16.60 บาท โดยระหว่างวันราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงสุดแตะที่ระดับ 16.80 บาท และต่ำสุดที่ระดับ 16.40 บาท ต่อมาปิดตลาดที่ระดับ 16.40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 314.91 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น