ดัชนีหุ้นภาคบ่ายดิ่งลงกว่า 10 จุด ตามทิศทางตลาดภูมิภาค วอลุ่มบางเฉียบ ด้านปัจจัยในประเทศ สถานการณ์การเมืองกดดันหนัก หลังท่าทีนายกฯ “สมัคร” แข็งกร้าว ส่งผลการประชุม 2 สภาล่ม เชื่อรัฐบาลใช้แผนลงใต้ดิน เกณฑ์มวลชนสมทบ นปก.หวังปะทะพันธมิตรฯ ขณะที่ บล.กิมเอ็ง ยังให้มุมมองเป็นบวก โดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน
ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ (1 ก.ย.) ดัชนีภาคบ่ายยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 15.06 น.ปรับตัวติดลบไปแล้วกว่า 10 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนปัจจัยลบที่ยังรุมเร้า ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ ยังเป็นแรงกดดันหลักต่อตลาดหุ้นไทย เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้
นักวิเคราะห์ระบุว่า ท่าทีแข็งกร้าวของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ส่อเค้าที่จะส่งเสริมให้เกิดเหตุรุนแรงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเกณฑ์มวลชนผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อมาสบทบ นปก.และเป้าหมายเพื่อให้ปะทะกับพันธมิตรฯ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง และเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก แม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ส.ค.จะออกมาดีกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ ดัชนีเมื่อเวลา 15.06 น.ปรับตัวลดลง 10.12 จุด มาที่ 674.32 จุด เปลี่ยนแปลง -1.48% ขณะที่วอลุ่มยังเบาบางประมาณ 3,695.87 ล้านบาท
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลงต่อ ดัชนียังเต้นตามจังหวะของการเมืองในประเทศ หากมีสัญญาณว่าการเมืองจะยุติลงโดยสันติ ตลาดหุ้นไทยก็จะตอบรับนเชิงบวก แต่หากมีสิ่งบ่งชี้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ หรือบานปลาย ก็จะตอบรับเชิงลบทัน ซึ่งในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาการประชุมร่วมของ 2 สภา ไม่ได้มีสัญญาณใดเลยที่บ่งชี้ว่าจะจบลงโดยสันติวิธีทำให้วันนี้ตลาดหุ้นตอบรับเชิงลบ
โดยวันนี้ตลาดต่างประเทศเองปัจจัยภายนอกเป็นลบ ขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ส.ค.ออกมาที่ 6.4% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก แต่ไม่ได้ช่วยเลย ทั้งๆ ที่ทำให้ความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยแทบหมดลง เรียกได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้แล้ว แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยตลาด
ทั้งนี้ ตัวแปรหลักยังอยู่ที่เรื่องการเมือง แต่ดัชนีลงเร็วไปหน่อย ตอนนี้ไหลลงมาที่ซัพพอร์ต 673 จุด เป็น low เดิมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ด้านบทวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง ยังคงมีมุมมองเป็นบวกกับตลาดหุ้นไทย เดือน ก.ย. และช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยให้เหตุผลหลัก 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ตลาดหุ้นไทยมีราคาถูกมากแล้ว และประการที่ 2 พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยดีโดยเปรียบเทียบอันที่จริงแล้ว ดัชนีหุ้นไทยปัจจุบันซื้อขายกันที่ระดับ PER เฉลี่ยของปี 2551 ที่เพียง 8.84 เท่าและระดับ P/BV เฉลี่ยเพียง 2.19 เท่า ซึ่งถือว่าถูกทึ่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ในด้านปัจจัยพื้นฐาน เราคาดว่า GDP จะเติบโตประมาณ 5.5% ในปีนี้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาลงได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลจากปัญหาเงินเฟ้อและเราเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสร็จสิ้นภารกิจการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้แล้วหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกยังคงเติบโตในเกณฑ์ดี ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการแข่งขันในตลาดการค้าระหว่างประเทศ
ส่วนปัจจัยผันแปรหลายตัวที่รออยู่ในภายหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเมืองในประเทศ, ความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิออกมาอีก เช่นเดียวกับความอ่อนแอของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากปัญหาวิกฤตตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินสหรัฐฯอย่างมาก
สำหรับมุมมองของ บล.กิมเอ็ง เชื่อว่า ปัจจัยลบส่วนใหญ่ได้สะท้อนไปในดัชนีตลาดแล้ว หลังจากที่ดัชนีปรับตัวลงกว่า 22.9% จากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ระดับ 884.19 จุดในวันที่ 21 พ.ค. และ 20.5% จากต้นปี
ความเสี่ยงขาลงของตลาดค่อนข้างจำกัดในตอนนี้ ขณะที่ระดับราคาดังกล่าวมีส่วนต่างจากเป้าหมายดัชนีของเราที่ระดับ 850 จุดอยู่ถึง 24.6% โดยเราให้กรอบการซื้อขายของเดือนกันยายนไว้ที่ 650-740 จุด แนะนำนักลงทุนให้ทยอยสะสมหุ้นที่ราคายังถูกอยู่อย่าง หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์, หุ้นกลุ่มอสังหาฯ และหุ้นกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ หากราคาอ่อนตัวลงมา
ล่าสุด 16.42 น.ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดที่ระดับ 675.22 จุด ลดลง 9.22 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.35% มูลค่าการซื้อขาย 6,248.93 ล้านบาท โดยหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ PTTEP ปิดที่ 146 บาท ลดลง 3 บาท มูลค่าการซื้อขาย 854.35 ล้านบาท , PTT ปิดที่ 262 บาท ลดลง 4 บาท มูลค่าการซื้อขาย 722.16 ล้านบาท, BANPU ปิดที่ 382 บาท ลดลง 8 บาท มูลค่าการซื้อขาย 314.20 ล้านบาท, SCB ปิดที่ 77 บาท ลดลง 1.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 268.59 ล้านบาท, BBL ปิดที่ 117 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 258.38 ล้านบาท