xs
xsm
sm
md
lg

เลือกบริษัทจัดการอย่างไร หาข้อมูลได้ที่ไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “สาระน่ารู้ คู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน”
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th

ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วที่ท่านได้ทำความรู้จักกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันไปแล้วนะคะ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการกองทุน บริษัทจัดการ ผู้ทำทะเบียนสมาชิกผู้รับฝากทรัพย์สิน ผู้สอบบัญชี และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแล มาถึงตรงนี้ นายจ้างที่เริ่มมีความสนใจในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็อาจจะอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารจัดการกองทุนในรายละเอียดมากขึ้น และอยากจะพูดคุยกับผู้จัดการกองทุนเพื่อซักถามข้อสงสัย วันนี้มาดูกันค่ะว่าท่านจะเลือกบริษัทจัดการได้อย่างไร และจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน

บริษัทจัดการนั้นเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยนำเงินไปลงทุนในตราสารการเงินประเภทต่างๆ ตามประเภทหลักทรัพย์และสัดส่วนที่กำหนดไว้ในนโยบายการลงทุนที่ได้ตกลงไว้กับคณะกรรมการกองทุน บริษัทจัดการจะนำเงินของสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผล เพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกกองทุน รวมทั้งเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวกแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการติดต่อกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อดำเนินในกิจการของกองทุน เช่น การจัดตั้งกองทุน การแก้ไขข้อบังคับกองทุน เป็นต้น โดยบริษัทจัดการต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนส่วนบุคคล และในการจัดการเงินลงทุนของกองทุน บริษัทจัดการจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากรและระบบงาน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่สำหนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ปัจจุบัน บริษัทจัดการที่ให้บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวน 17 บริษัทจัดการ ซึ่งเมื่อคัดเลือกบริษัทจัดการได้แล้ว บริษัทจัดการก็จะทำหน้าที่บริหารจัดการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะมีผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นผู้ดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนให้ปลอดภัย ทำการจัดเก็บทรัพย์สินของกองทุนแยกต่างหากจากทรัพย์สินของนายจ้างและบริษัทจัดการ โดยผู้รับฝากทรัพย์สินจะติดตามสิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินปันผลและสิทธิต่าง ๆ ที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทที่กองทุนไปลงทุนให้แก่กองทุน และมีผู้สอบบัญชี ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบงบการเงินของกองทุน รวมทั้งรับรองความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงิน เพื่อให้เกิดความถูกต้องและโปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก

ด้านการกำกับดูแล สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะทำหน้าที่รับจดทะเบียนข้อบังคับกองทุน โดยมีหลักในการพิจารณาคือ สมาชิกกองทุนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และกำหนดให้บริษัทจัดการต้องมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบงาน และมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับผู้ลงทุน และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของกองทุน

สำหรับนายจ้างที่ได้ศึกษาข้อมูลมาจนถึงขั้นที่อยากจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นหลักประกันในยามเกษียณอายุของพนักงาน และอยากติดต่อบริษัทจัดการเพื่อขอทราบรายละเอียดการให้บริการและข้อมูลเพิ่มเติมนั้น ก็มีเว็บไซต์ที่สำคัญที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้ ได้แก่ เว็บไซต์ www.thaipvd.com จัดทำโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งจัดให้มีการตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ของสมาชิก ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปไว้อย่างครบถ้วน และเว็บไซต์ www.aimc.or.th จัดทำโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ซึ่งรวบรวมข้อมูล ความรู้ และสถิติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจัดการลงทุน ตลอดจนข้อมูลและรายละเอียดติดต่อ และลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของบริษัทจัดการที่ให้บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 17 แห่งค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น