xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างต้องจับตาไตรมาส4 มรสุมศก.จ่อถล่มโพรวิเดนซ์ ฟันด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงขยายตัวจากจำนวนนายจ้างและลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นในระบบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เริ่มส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และคาดว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4”

ปัจจุบัน ความมั่นคงในชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุงาน ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น สังเกตุได้จากจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะความใส่ใจขององค์กรต่างๆที่มีต่อบุคลากรของตน รวมถึงการเห็นถึงประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับในอนาคตนั่นเอง

ที่ผ่านมา จำนวนกองทุน และเม็ดเงินลงทุนในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการขยายตัวอย่างมาก หรือมีจำนวนมหาศาล แต่ด้วยเงินเหล่านี้มีไว้เพื่อชีวิตที่สุกสบายของเจ้าของเงินทุกคนในยามเกษียณอายุ ดังนั้นการบริหารจัดการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่ดีย่อมที่จะมีความรัดกุมอย่างมากขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเจ้าของเงินทุกคนก็ไม่ปรารถนาให้ใครมาใช้ของตนอย่างสุรุ่ย สุร่าย แต่ต้องการให้คนที่ดีมีความสามารถมาช่วยบริหารเม็ดเงินเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในระดับความเสี่ยงที่ดีที่สุดด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้อย่างน่าสนใจ ทำให้เราได้รับทราบถึงเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาในระบบ รวมทั้งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกจะส่งผลเช่นไรบ้างกับเม็ดเงินดังกล่าว

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยรวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 460,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักที่ทำให้ NAV เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ได้แก่ เงินนำส่งเข้ากองทุนที่เพิ่มขึ้น 13.0% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์เริ่มส่งผลให้ NAV ปรับลดลง โดย NAV ณ สิ้นเดือน ก.ย. ลดลง 0.9% จากเดือนก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนพบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 พบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในตราสารหนี้มากที่สุด (78.1% ของ NAV) ตามด้วยเงินฝาก (10.3%) และตราสารทุน (9.6%) โดยไตรมาส 3 เป็นไตรมาสแรกในปี 2551 ที่สัดส่วนเงินฝากมากกว่าสัดส่วนของตราสารทุน เนื่องจากสัดส่วนเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2550 ขณะที่สัดส่วนการลงทุนของตราสารทุนในไตรมาส 3 ปรับลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้กองทุนมีแนวโน้มลงทุนในตราสารทุนลดลง และกระจายการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอื่นมากขึ้น

บริษัทจัดการที่มี NAV ภายใต้การบริหารสูงสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 ได้แก่ บลจ. ทิสโก้ (66,762 ล้านบาท) ตามด้วย บลจ. กรุงไทย (63,029 ล้านบาท) และ บลจ. เอ็มเอฟซี (54, 665 ล้านบาท) โดยบริษัทจัดการที่มีอัตราการเติบโตของ NAV ภายใต้การบริหารจัดการสูงสุดในไตรมาส 3 ได้แก่ บลจ.ไทยพาณิชย์ (เพิ่มขึ้น 13.9%)

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 มีจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 510 กองทุน 72.2% เป็นกองทุนขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านบาท และ 64.9% มีจำนวนสมาชิกกองทุนมากกว่า 500 คน โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนกองทุนลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา 2 กองทุน ซึ่งสาเหตุที่กองทุนเลิก เนื่องจากโอนย้ายเพื่อเข้าร่วม pooled fund แทนการจัดตั้ง single fund เอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนกองทุนจะลดลง แต่จำนวนนายจ้าง ณ สิ้นไตรมาส 3/2551 เพิ่มขึ้น 2.8% จากไตรมาสที่ 2 มาอยู่ที่ 8,949 ราย ขณะที่จำนวนลูกจ้างอยู่ที่ประมาณ 2.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเลือกเข้ากองทุนร่วม (pooled fund) มากกว่าจัดตั้งกองทุนเดี่ยว (single fund)

โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงขยายตัวจากจำนวนนายจ้างและลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นในระบบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เริ่มส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และคาดว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลสถิติเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ที่ www.thaipvd.com
กำลังโหลดความคิดเห็น