xs
xsm
sm
md
lg

กองสำรองฯฟื้น แนะจับตาจำนวนลูกจ้างหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น ดันยอดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบพลิกโต 3.9% ล่าสุดสิ้นไตรมาส 3 NAV พุ่งเกือบแตะ 5.2 แสนล้านบาท พร้อมแนะจับตาจำนวนลูกจ้าง หลังพบจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนนายจ้างปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการขยายตัวของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าที่ผ่านมา ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 510,652 เพิ่มขึ้นประมาณ 3.9 % จากไตรมาสที่ 2 ของปี
สำหรับบริษัทจัดการที่มี NAV ภายใต้การบริหารสูงสุด ในไตรมาสนี้ ได้แก่ บลจ. ไทยพาณิชย์ โดยมี NAV ภายใต้การบริหารจัดการ 72,322 ล้านบาท ตามด้วย บลจ.กสิกรไทย (71,408 ล้านบาท) และบลจ. ทิสโก้ (66,697 ล้านบาท) ตามลำดับ โดย บลจ. ที่มี NAV ภายใต้การจัดการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ บลจ.ทหารไทย
ทั้งนี้ โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2552 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนนายจ้างปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในไตรมาสที่แล้ว แต่จำนวนลูกจ้างยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องติดตามทิศทางของตัวเลขเหล่านี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ เริ่มเห็นการขยายตัวของการจัดตั้ง employee’s choice ให้แก่ลูกจ้างจากจำนวนกองทุนประเภท master fund ที่เพิ่มขึ้น
ด้าน นางสาวอารยา ธีระโกเมน กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า การขยายตัวของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมามีตัวเลขที่ส่งสัญญาณว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง แต่ในปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวได้ลดจำนวนลงแล้ว ทำให้เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการขออนุญาติกระทรวงกาคลังในการงดจ่ายเงินสมทบชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปีอีกต่อไป
ส่วนความเคลื่อนไหวของกองทุนสำรองเลี้ยงในไตรมาส 3/2552 สำนักงานก.ล.ต. รายงานว่า มีเงินสะสม สมทบเข้ากองทุนทั้งสิ้น 14,364 ล้านบาท (เป็นเงินสะสม 45.5% และเงินสมทบ 54.5%) ลดลง 23.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มีเงินจ่ายออกจากกองทุนทั้งสิ้น 7,035 ล้านบาท (เป็นเงินจ่ายคืนให้สมาชิก 94.9% และเป็นเงินจ่ายคืนนายจ้างทั้งสิ้น 5.1% ) ลดลง 40.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อดูเหตุแห่งการจ่ายเงินคืนให้สมาชิก พบว่า 52.5% เป็นการจ่ายให้สมาชิกที่ออกจากงาน ตามด้วยสมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน 26.5% และสมาชิกที่เกษียณอายุ 12.6%
จำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 มีทั้งสิ้น 507 กองทุน ลดลง 2 กองทุนจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีการจัดตั้งกองทุนใหม่ 5 กองทุน (เป็น master pooled fund 1 กองทุน) ขณะที่เลิกกองทุน 7 กองทุน (เข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง 6 กองทุน และนายจ้างเลิกกิจการ 1 กองทุน) โดย 74.2% เป็นกองทุนขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านบาท และ 65.1% มีจำนวนสมาชิกกองทุนมากกว่า 500 คน เมื่อพิจารณาลักษณะกองทุนพบว่า 60.1% เป็นกองทุนหลายนายจ้าง และ 6.3% เป็นกองทุนหลายนโยบายการลงทุน (master funds) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 12 กองทุน สำหรับจำนวนนายจ้าง ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 อยู่ที่ 9,301 ราย เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนจำนวนลูกจ้างอยู่ที่ประมาณ 2.0 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 1.1%
ส่วนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน สำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ตราสารหนี้ภาครัฐยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนขยับเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยล่าสุดการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ที่ 77.1% ของ NAV ตามด้วยเงินฝาก 11.1% และตราสารทุน 8.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น