xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไทยชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนปรับตัวลง 26.70% และ 36.27% ตามลำดับในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดของประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวลงในอัตราที่น้อยกว่าคือ 8.44%, 14.53% และ 16.32% จึงหวังว่าผู้ส่งออกของไทยควรหันมาพึ่งตลาดในภูมิภาคมากขึ้น แต่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้”

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้ประเมินแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส4/2551 และในปี 2552 ไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้หดตัวลงอย่างรวดเร็วสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจแล้ว ตัวบ่งชี้หลักๆ ได้แก่ตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรง, อุปสงค์ในประเทศอ่อนตัวตามความตึงเครียดทางการเมืองและความไม่แน่นอนในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและช่วงต้นเดือนธันวาคม รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูญเสียไประหว่างและหลังจากเหตุการณ์ปิดสนามบินนานาชาติของกรุงเทพฯ จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ดังนั้นประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/51และในไตรมาส 1/52 จึงอยู่ที่ระดับ -1.22% และ -3.43% ตามลำดับ ซึ่งเพิ่งปรับไปก่อนหน้านี้เริ่มดูเหมือนว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป


ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 6.55%

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนพฤศจิกายน หดตัวลง 6.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) ประเด็นที่น่ากังวลกว่าคือดัชนีผลผลิตภาคอุตสหกรรมที่ปรับฤดูกาลแล้วปรับตัวลงถึง 7.72% จากเดือนตุลาคม ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลงเหลือ 61.2% ในเดือนพฤศจิกายนจากระดับ 67.0% ในเดือนตุลาคม ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ออกมาย่ำแย่ยังได้รับการยืนยันจากตัวเลขยอดการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปรับตัวลง 8.24% yoy ในเดือนพฤศจิกายนและหดตัวลงแรงกว่า 9.35% จากเดือนก่อน

ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.57%

ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) หดตัวลง 1.57% yoy หรือลดลงถึง 4.07% จากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค (หลังจากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว) หดตัวลง 7.56% yoy ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมากจากระดับ 9.03% ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศก็ปรับตัวลง 20.19% yoy ในเดือนพฤศจิกายน แม้ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้ 6.35% yoy แต่ก็ชะลอตัวลงมามากจากการเติบโต 31.60% ในเดือนกันยายนและ 19.37% ในเดือนตุลาคม

ดัชนีการลงทุนในประเทศส่งสัญญาณการชะลอตัวลงต่อ

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวเพียง 1.27% yoy แต่ปรับตัวลง 1.04% จากเดือนก่อน สัญญาณที่บ่งชี้ถึงกิจกรรมการก่อสร้างที่ชะลอตัวลงได้ดีที่สุดคือยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัวลงถึง 22.37% yoy เหลือเพียง 1.7 ล้านตัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน (ณ ราคาปี 2543) เพิ่มขึ้น 9.09% แต่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 16.00% ในเดือนก่อนหน้า หรือจากระดับ 1.27 แสนล้านบาทในเดือนตุลาคมเป็น 1.15 แสนล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน จากระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยที่ 61% มองว่าแนวโน้มการลงทุนใหม่ๆในโรงงานและเครื่องจักรของภาคอุตสาหกรรมดูไม่สดใสนัก นอกจากนี้ยอดขายเครื่องจักรในประเทศก็หดตัวลง 2.17% yoy ในเดือนตุลาคมด้วย

ปริมาณการส่งออกหดตัวลง 20.85%

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบทันทีต่อภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนหดตัวลง 17.71% yoy เหลือเพียง 11,759 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเราไม่รวมปัจจัยด้านราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัว 3.97% จะพบว่าปริมาณการส่งออกหดตัวลงถึง 20.85% yoy ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแย่กว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้มาก เนื่องจากปริมาณการส่งออกบ่งชี้แนวโน้มการหดตัวลงอย่างรวดเร็วจากระดับ +8.14% ในเดือนกันยายนและ -3.07% ในเดือนตุลาคม ในส่วนของการนำเข้าเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงเช่นกัน ซึ่งบ่งชี้การอ่อนตัวของอุปสงค์ในประเทศด้วย โดยปริมาณการนำเข้าชะลอตัวลงจากระดับ 23.4% ในเดือนกันยายนและ 15.58% ในเดือนตุลาคมเป็น -1.56% ในเดือนพฤศจิกายน

ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กฯกระทบมากสุด

การชะลอตัวของภาคการส่งออกดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในวงกว้าง อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากที่สุดคืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า / อิเล็กทรอนิกส์ โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องจักรและเครื่องจักรกลหดตัวลง 30.75% yoy, หมวดสินค้าเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้าหดตัวลง 22.75% และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวลง 16.70% ซึ่งสินค้าทั้งสามหมวดนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

มูลค่าการส่งออกไปจีนหดตัวลง 36.27%

ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักต่างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกับประเทศไทย มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนปรับตัวลง 26.70% และ 36.27% ตามลำดับในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดของประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวลงในอัตราที่น้อยกว่าคือ 8.44%, 14.53% และ 16.32% จึงหวังว่าผู้ส่งออกของไทยควรหันมาพึ่งตลาดในภูมิภาคมากขึ้น แต่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้

มีโอกาสมากขึ้นที่ธปท.จะลดอัตราดอกเบี้ยต่อ

ปัจจัยบวกเพียงประการเดียวที่มองเห็นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาย่ำแย่ในตอนนี้คือมีโอกาสมากขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 14 มกราคม ในตอนนี้คาดว่าจะเห็น ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในปีนี้เป็นอย่างน้อยส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล 1 วันเหลือเพียง 2%

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2552 จะไม่ถดถอยถึงขั้นติดลบอย่างที่หลายฝ่ายหวาดกลัว แม้ว่าในไตรมาสที่ 1 และ 2 จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัญหาภายในประเทศ หากรัฐบาลชุดใหม่เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อองค์กรหลักทั้ง 3 สถาบัน คือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการให้กลับมาบริหารประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถหยุดวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองที่เกิดขึ้นทุก 3 เดือน โดยให้ผู้บริโภคเห็นว่ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว 1 ปี หรือ 2 ปี หรือ 3 ปี

“ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการหรือมีแนวโน้มให้เห็นในลักษณะนี้ ก็จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 -4 อย่างชัดเจน สศช. เชื่อมั่นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถรองรับได้ ไม่ถึงขั้นติดลบ”

นอกจากนี้ นายอำพน ยังเห็นสอดคล้องกับการที่ธนาคารโลกได้ออกมาประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ที่จะขยายตัวได้ในระดับที่ร้อยละ 2 ขณะที่ในปี 2551 จะเติบโตไม่ถึงร้อยละ 4 เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิมีสูงกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบในระยะยาว จึงทำให้เชื่อว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่ สศช. เคยคาดการณ์ไว้ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ร้อยละ 4.5

ขอขอบคุณ : ฝ่ายวิจัย บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น