เผยผลวิเคราะห์ SMEs ปี 51 เข้าใกล้ โคม่า โดนพิษทั้งในและนอกประเทศกระหน่ำ ธุรกิจสาขาเส้นเลือดใหญ่ จ้างงานหด ร้อยละ 1-7 ส่งออกต่ำกว่าคาด แถมผลกำไรลดเหลือร้อยละ 32.63
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการศึกษา และวิเคราะห์ภายรวมของ SMEs ในปีนี้ (2551) ไม่เชื่อมั่นต่อการทำธุรกิจ มีผลมาจากทั้งปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมถึง ยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
แม้จะกังวลต่อความเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น ผลการประกอบการระหว่างไตรมาส 1/2551 ถึงไตรมาส 3/2551 ยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อสถานการณ์โดยรวมตลอดทั้งปี คาดว่า ถึงสิ้นปีนี้ จำนวน SMEs ไทยน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.36 ล้านราย เป็น 2.40 ล้านราย ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.57 จากปี 2550 แม้จะมี SMEs ทยอยปิดกิจการไปไปไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน ส่งผลให้อัตราจ้างงานน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 8.90 ล้านคน เป็น 9.16 ล้านคน ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.94 จากปี 2550
ทว่า เมื่อเจาะลงไปในรายสาขา พบว่า ธุรกิจถือเป็นกระดูกสันหลังของ SMEs ไทย ทั้งเครื่องอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือเฉพาะด้าน สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เฟอร์นิเจอร์ แก้วและเซรามิก อัญมณีและเครื่องประดับ หนังและผลิตภัณฑ์ฯ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ และบริการท่องเที่ยว เป็นต้น ต่างมีอัตราการลดจำนวนแรงงานระหว่างร้อยละ 1 – 7 บ่งบอกว่า สถานการณ์SMEs อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง
“โดยภาครวมแล้ว แม้การเพิ่มกิจการ และจ้างงานจะขยาย แต่ก็เป็นในส่วนของธุรกิจรายย่อยมากๆ ที่แทบไม่มีผลต่อสถานการณ์ SMEs ส่วนสาขาที่มีความสำคัญๆ ซึ่งมี SMEs อยู่จำนวนมาก ล้วนมีแนวโน้มการจ้างงานลดลงทั้งสิ้น” ผอ.SAW กล่าว
ทั้งนี้ สาขาที่จ้างงานลดลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในสาขากลุ่มวิศวการ และกลุ่มอุตสาหกรรมเบาที่จะได้รับผลกระทบจากการส่งออก ได้แก่ สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการจ้างงานจะลดลงประมาณ 5.68%(40,961 คน) สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงประมาณ 5.22%(4,741 คน) สาขาเครื่องอิเลคทรอนิกส์ ลดลงประมาณ 4.66%(2,367 คน) สาขาหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงประมาณ 4.52%(4,809 คน) และสาขาแร่อโลหะ(ใช้ในการก่อสร้าง) ลดลงประมาณ 3.89%(4,265 คน) เป็นต้น
ในขณะที่ภาคการค้าและบริการ ของ SMEs พบว่า สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาบริการที่ปรึกษา คาดว่าการจ้างงานจะลดลงประมาณ 8.67%(13,759 คน) สาขาบริการอื่นๆ ลดลงประมาณ 8.27% (13,936 คน) สาขาบริการคอมพิวเตอร์ฯ ลดลงประมาณ 7.75% (2,519 คน) สาขาบริการสุขภาพและอนามัย ลดลงประมาณ 7.23%(2,652 คน) สาขาไปรษณีย์ฯ ลดลงประมาณ 2.21%(1,184 คน) และสาขาบริการให้เช่าสินทรัพย์ ลดลงประมาณ 1.61% (10,440 คน) เป็นต้น
อีกทั้ง การส่งออกที่เป็นพระเอกของ SMEs ไทยมาตลอด ก็น่าห่วงเช่นกัน แม้มูลค่าจะเพิ่มจาก 1.59 ล้านล้านบาท เป็น 1.72 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 8.46 ซึ่งน้อยกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปี
นอกจากนั้น รายได้สุทธิในปี 2251 แม้จะเพิ่มขึ้นจาก 5.86 ล้านล้านบาทเป็น 5.94 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 1.26 จากปี 2550 แต่ผลเจาะที่ผลกำไรที่ได้ กลับลดลง จาก 0.37 ล้านล้านบาท เป็น 0.25 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 32.63 จากปี 2550
“เหตุที่กำไรของ SMEs ลดลงเป็นผลพวงมาจากปัญหาเรื้อรังตั้งแต่ปี 2550 ทั้งขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะปัญหาการเมือง ปัญหาต้นทุนจากพลังงานเมื่อช่วงต้นปี และปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท เป็นต้น ยิ่งประกอบกับปัญหาจุดอ่อนของ SMEs ทั้งด้านตลาด การผลิต เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และการเงิน ยิ่งตอกย้ำให้ผลตอบแทน ผลิตภาพแรงงาน และความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยของ SMEs ลดลงอย่างต่อเนื่อง” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว