xs
xsm
sm
md
lg

"บลจ."เชื่อไทยน่าลงทุน เหนือเพื่อนบ้านทุกด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารกองทุนเห็นพ้องจีดีพีไทยโตไม่ถึง6% เต็มที่ได้แค่ 4.5 - 5%เท่านั้น อีกทั้งครึ่งปีหลังธุรกิจส่งออกเริ่มหมดแรง เข็นจีดีพีไม่ขึ้นตามที่รัฐคาดหวัง แต่ชูศักยภาพการลงทุนเมืองสยามยังดีกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งในแง่สภาพภูมิอากาศ แรงงาน รวมทั้งความเสี่ยงในการลงทุน ย้ำจุดแก้วิกฤต นายกฯต้องไม่ใช่คนเดิม พร้อมยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเแน เพื่อฟื้นความเชื่อมัน ดึงนักท่องเที่ยวกลับ

นาย กรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดกองทุนรวม (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวถึงกรณีที่น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 6 ว่า เรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จีดีพีของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 4.5-5% แต่ไม่มีทางที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6 % อย่างแน่นอน ทั้งนี้จากภาวะการที่เกิดขึ้น บริษัทคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ไม่แรงเหมือนครึ่งปีแรก โดยสูงสุดทั้งปีจะอยู่ที่ 5%

สำหรับ ประเทศไทยนั้น ไพรเวต อินเวสเมนต์ หรือการใช้จ่ายภาคเอกชนค่อนข้างที่จะต่ำ อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงมาแล้วก็ตาม แต่กำลังซื้อภายในประเทศที่ควรจะกลับมายังหดหายเหมือนเดิม โดยการลงทุนของภาคเอกชนได้เกิดการชะลอตัว เนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบ ทำให้ไม่มีเม็ดเงินในการใช้จ่ายเท่าที่ควร อีกทั้งการว่าจ้างแรงงานก็ลดน้อยลงไปด้วย ถือว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัญหาลูกโซ่

นายกรวุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของนักลงทุนได้มีการคาดการณ์ว่าหากนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งหลังจากที่โดนปลดไป จะก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุด และหากมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาบริหารต่อจากคนเดิม ต้องมองว่าการบริหารงานจะเป็นอย่างไร และนักลงทุนต้องเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจะแก้ไม่ได้ภายในระยะเวลา 1-2 เดือน นอกจากนี้ หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คงจะต้องดูว่าใครเป็นที่จะผู้เข้ามารับตำแหน่ง หากเป็นคนจากพรรคเดิมก็ย่อมมีนโยบายการบริหารเดิม ปัญหาก็จะเกิดแบบเดิม

ส่วนการคาดการณ์ว่านักลงทุนชาวต่างชาติจะหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน บริษัทคาดว่ามีความเป็นไปได้ แต่จะต้องมองว่าบรรดานักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในระยะสั้นหรือระยะยาว อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าการลงทุนในเมืองไทยยังมีศักยภาพในการลงทุนมากกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ สภาพภูมิอากาศ แรงงาน ความเสี่ยงในการลงทุน

ด้าน นายอรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิลมล ผู้อำนวยการสายงานจัดการกองทุน บลจ. เอสซีบี ควอนท์ กล่าวว่า สำหรับ จีดีพีของประเทศทั้งปีน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 5% แต่ไม่น่าที่จะปรับตัวไปถึง 6%ได้ เนื่องจากปัญหาภายในประเทศที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มองว่า หากมีการเปลี่ยนนายกฯจะสามารถเรียกความมั่นใจจากนักลงทุนได้ ซึ่งหากมีการเลือกนายกฯคนเก่ากลับมา จะทำให้การเมืองที่กำลังจะยุติยิ่งยืดเยื้อขึ้นไปอีก

"แนวโน้มที่เศรษฐกิจปรับตัวลดลง เนื่องมาจากเมื่อต้นเดือนกันยายน 2551 มีการประกาศใช้ พรบ.ฉุกเฉิน ทำให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวกลัวที่จะเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ประเทศสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมาก"

ด้านนาย พนุกร จันทรประภาพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านวิจัยและบริหารความเสี่ยง บลจ.จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยคาดว่า จีดีพี จะโตถึง 6% ตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า โดยได้ประเมิณจีดีพีของปี 2551อยู่ที่ 4.5-5% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังไม่น่าจะปรับตัวมากไปกว่านี้ ดูจากการประเมิณราคาน้ำมันและค่าเงินเฟ้อในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง บริษัทมองว่าเศรษฐกิจจะเกิดการชะลอตัว ซึ่งถือว่าตรงตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ท่านอื่นๆ และโดยส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจค่อนข้างที่จะแย่ อีกทั้ง ครึ่งปีหลังธุรกิจการส่งออกที่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวตามไปด้วย

"บริษัทมองว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเกิดการชะลอตัว เนื่องมาจากปัจจัยทางด้านการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นเป็นธุรกิจที่สามารถดึงเม็ดเงินกลับเข้ามาในประเทศได้มาก จึงคาดว่าจีดีพีทั้งปีจะคงที่อยู่ที่ 4.5-5% ส่งผลให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมไปถึงการเทขายหุ้นของนักลงทุนชาวต่างชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง"

ขณะเดียวกัน บริษัทเชื่อว่าความน่าสนใจของไทย ยังคงมีความน่าสนใจกว่าตลาดเพื่อนบ้าน เพราะที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเพื่อนบ้านได้มีการปรับตัวลดลงเหมือนกับประเทศไทย แต่จากปัญหาการเมืองทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะปรับตัวลดลง มาก กว่าประเทศอื่นเพียงเล็กน้อย

เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารโลก ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สะดวกในการประกอบธุรกิจอันดับที่ 13 จาก 181 ประเทศทั่วโลก และเป็นลำดับที่ 4 ในเอเชีย ถือว่าดีขึ้นกว่าจากการสำรวจครั้งที่แล้วที่อยู่อันดับ 19 ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ครองตำแหน่งประเทศที่ง่ายที่สุดต่อการทำธุรกิจ 3 ปีซ้อน อันดับ2 นิวซีแลนด์ อันดับ3 สหรัฐ อันดับ4 ฮ่องกง และจีน อันดับ 5 เดนมาร์ก โดยปัจจัยด้านการเมืองหากไม่ยืดเยื้อก็จะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และเชื่อว่านักลงทุนทั้งในและต่างชาติจะมองการลงทุนระยะยาวมากกว่า ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังมีความแข็งแกร่งและยังน่าลงทุนอยู่มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น