xs
xsm
sm
md
lg

เม็ดเงินอุตฯกองทุนมีโอกาสโต หลังแบงก์ลดดบ.-กองเกาหลีครบอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เม็ดเงินอุตฯกองทุนมีโอกาสโต หลังแบงก์ลดดบ.-กองเกาหลีครบอายุ

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ผู้จัดการกองทุน ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไตรมาสแรกยังไม่สดใสเท่าที่ควร แต่เชื่อเม็ดเงินทั้งระบบมีโอกาสเติบโตเพิ่ม ภายหลังแบงก์พาณิชย์เริ่มลดการแข่งขันดุด้านดอกเบี้ยเงินฝาก และเม็ดเงินกว่าแสนล้านที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้เริ่มทยอยกลับเมืองไทย ดันสภาพคล่องทั้งระบบดีขึ้น

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปี 2552 ว่า ภาวะตลาดตลาเงินในช่วงนี้ ยังไม่ดีและจะยังต่อเนื่องไปตลอดในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลมาถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องอัตราการว่างงานเข้ามาสร้างผลกระทบด้วย
อย่างไรก็ตามเราต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า จะสามารถเข้ามาแก้ไขหรือช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อสภาพวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเช่นนี้ได้หรือไม่

“ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนปีหน้าคงชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่คาดว่าในไตรมาส2 – 3 เรื่องต่างๆจะเริ่มดีขึ้น และคงเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น จึงยังเป็นช่วงที่น่าเข้าไปเก็บของถูก”

ส่วนการดำเนินธุรกิจของบริษัท จะไม่เน้นการออกสินค้าใหม่ แต่จะเน้นอะไรง่ายๆ เพื่อไม่ลูกค้ารู้สึกเกิดความเสี่ยง อย่างเช่นกองชัวร์ เดลี่ของบริษัท และกองทุนโรลโอเวอร์ 3 – 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจมากกว่า”

สำหรับกรณีที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ เริ่มลดดอกเบี้ยเงินฝากลงนั้น เชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่ดีแก่อุตสาหกรรมกองทุน ทำให้มีโอกาสได้รับเม็ดเงินบางส่วนจากจุดนี้กลับมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ขณะเดีนยวกันเชื่อว่าในส่วนของบรรดาบริษัทจัดการลงทุนทั้งหลาย น่าจะกำลังเตรียมแผนรองรับเม็ดเงินที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลี ซึ่งมีจำนวนหลายแสนล้านบาท โดยคาดว่าน่าจะมีการจัดตั้งกองทุนใหม่ๆออกมารองรับเม็ดจำนวนมากขึ้น

ทั้งนี้ มีบรรดาผู้บริหาร บริษัทจัดการลงทุนหลายรายให้ความเห็นถึงเม็ดเงินจำนวนมากจากกองทุนที่เข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ซึ่งจะเริ่มทยอยหมดอายุในปีนี้ว่า เม็ดเงินดังกล่าวจะมากถึงประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่จะไม่ใช่การครบอายุหมดพร้อมกัน โดยจะเป็นการทยอยครบกำหนดตามช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งหลายบริษัทต้องเตรียมหากองทุนอื่นๆ มารองรับ โดยจะเน้นการออกกองทุนพันธบัตรภาครัฐผสมกับหุ้นกู้เอกชน มานำเสนอลูกค้าแทน แม้ผลตอบแทนตอนนี้ไม่สูงมาก เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยลดลง แต่หากลงทุนในหุ้นกู้เอกชนจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ตามในส่วนของหุ้นกู้เอกชนที่จะลงทุนนั้น ผู้จัดการกองทุนต่างให้ความเห็นว่า จำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยต้องเน้นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกระแสเงินสดดีและมีหนี้น้อย โดยมีเครดิตเรตติ้งไม่ต่ำกว่า -A ขึ้นไป ปัจจุบันมีหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เพราะตอนนี้ทุกบริษัทที่ต้องการใช้เงินหันมาพึ่งตลาดในประเทศหมด โดยระยะเวลาลงทุนค่อนข้างยาว 3-5 ปี ส่วนความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการถือยาวเพียง 1 ปีเท่านั้น บางครั้งบริษัทต้องหาตัวเลือกอายุ 2 ปี มาให้พิจารณา

"ตอนนี้ต้องติดตามตลาดเงินอย่างใกล้ชิด หากบริษัทไหนออกขายหุ้นกู้ ผลตอบแทนจะต้องสูง เนื่องจากเครดิตของไทยในตลาดเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น "

สำหรับปี 2551 ที่ผ่านมา มีการออกกองทุนพันธบัตรเกาหลีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) 3.7 แสนล้านบาท โดย บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่า 5.68 หมื่นล้านบาท, บลจ.ไทยพาณิชย์ 5.57 หมื่นล้านบาท, บลจ.ทหารไทย 4 หมื่นล้านบาท, บลจ. บัวหลวง 4.05 หมื่นล้านบาท, และ บลจ. กรุงไทย 2.3 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่าในปี2552 เม็ดจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้จะไหลกลับเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าว จะถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับประเทศไทย ท่ามกลางภาวะการเศรษบกิจของประเทศที่ชะลอตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยส่วนตัวจึงไม่ห่วงปัญหาสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้ามากนัก ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรองรับเม็ดเงินดังกล่าวที่จะเริ่มทยอยกลับมา บริษัทมีแผนที่จะจัดทำกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นการเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย และบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ (Government Bond & Coporaiton Bonds : GCOP)เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน ที่ต้องการการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นที่สนใจอย่างมากใน ขณะนี้

“พันธบัตรรัฐบาลจะมีความมั่นคง และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยแม้ผลตอบแทนจะอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน จากวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลให้บรรดาบริษัทจดทะบียนขนาดใหญ่ ซึ่งมีแผนที่จะใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินโครงการ หรือลงทุนเพิ่มประสบปัญหาในเรื่องการหาแหล่งเงิน เนื่องจากจะได้รับการอนุมัติปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ได้น้อย หรือไม่ได้เลย นอกจากนี้หากคิดจะไปขอกู้จากต่างประเทศ ก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเครดิตไลน์ที่ทุกสถาบันการเงินปรับตัวลดลง จนต้องหันมาออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ในประเทศเพื่อนำเงินไประดมทุนแทน ซึ่งจะมีมากขึ้นและผลิตภัณฑ์นี้ก็ให้ผลตอบแทนได้ในระดับที่ดี”
กำลังโหลดความคิดเห็น