บลจ.เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนนโยบายกองทุนหุ้น เปิดทางสามารถเข้าลงทุนในตลาดอนุพันธ์ได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของผู้ถือหน่วยจากภาวะการลงทุนที่ยังผันผวนทั้งปัจจัยลบจากนอกและในประเทศ "กรุงไทย"ทยอยแก้ไขนโยบายกองหุ้นเดิมที่มีอยู่ ขณะที่ "ฟิลลิป"ระบุต้องปรึกษาบริษัทแม่ที่สิงคโปร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญก่อน แต่ที่แน่นอนจะเร่งสร้างความมั่นคงและขยายฐานกองทุนที่มีอยู่ให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ รักษาการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด1 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) กรุงไทยจำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ขณะนี้บริษัทได้มีการวางกรอบนโยบายกองทุนตราสารทุนให้สามารถลงทุนในตราสารอนุพันธ์ได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนตราสารทุนในเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมา แต่ทั้งนี้จะต้องมองว่าเป็นการลงกันความเสี่ยงทั้งจำนวนหรือเป็นการป้องกันความเสี่ยงเพียงบางส่วนเท่านั้น
"ข้อดีของการป้องกันความเสี่ยงโดยการปรับเปลี่ยนมาถือตราสารอนุพันธ์ เพราะจะสามารถป้องกันความเสี่ยงของการลงทุนได้ ซึ่งมีให้เลือกที่จะป้องกันเต็มจำนวนหรือป้องกันแค่บางส่วน หากเลือกป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวนเวลาที่หุ้นตกหรือหุ้นขึ้นผลตอบแทนที่จะได้รับก็เท่าเดิมไม่ได้ไม่เสีย แต่สำหรับการลงทุนในออปชั่น ข้อดีคือเวลาหุ้นตกผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นอาจจะน้อย แต่หากว่าหุ้นขึ้นการลงทุนก็จะได้กำไร"นายวิโรจน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการวางกรอบนโยบายกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนของบริษัท โดยจะทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายกองทุนเดิมที่บริษัทมีอยู่แล้ว ซึ่งจะยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนใหม่ เนื่องจากการลงทุนในตลาดอนุพันธ์มีความเสี่ยงสูง แต่ที่บริษัทได้เลือกเข้าไปถือตราสารอนุพันธ์เพราะบริษัทใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนเพียงเท่านั้น
"หากตลาดหุ้นเป็นช่วงขาขึ้นนักลงทุนไม่ควรลงทุนในระยะสั้น แต่หากเป็นในช่วงตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลงการลงทุนในระยะสั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้" นายวิโรจน์ กล่าว
นายวรรธนะ วงศ์สีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ฟิลลิป จำกัด กล่าวว่า สำหรับบริษัทขณะนี้ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายของกองทุนหุ้นให้สามารถถือครองตราสารอนุพันธ์ โดยมองว่าการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ในประเทศไทยนั้น ไม่มีความครอบคลุมเท่าที่ควรเหมือนอย่างต่างประเทศ แต่สำหรับกองทุนของบลจ.รายอื่นที่ได้มีการออกกองทุนที่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นมองว่าเป็นความคิดที่ดี หากนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ สำหรับบลจ.เป็นเพียงบริษัทเล็ก การออกกองทุนหุ้นที่ไปลงทุนตราสารอนุพันธ์ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนที่สามารถกระจายความเสี่ยงของการลงทุนได้ แต่ยังมองว่าการลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟที่ลงทุนในเน้นลงทุนในหุ้นไม่จำเป็นที่จะต้องไปลงในตราสารอนุพันธ์ เพราะเชื่อว่าในอนาคตตลาดหุ้นจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างแน่นอน โอกาสที่หุ้นจะตกไปตลอดเวลานั้นเป็นไปไม่ได้
"การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ มันเป็นเพียงทฤษฏี สำหรับในส่วนของภาคปฎิบัติการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ครอบคลุมไม่หมด อีกทั้งตัวตราสารยังไปไม่ถึงนักลงทุน" นายวรรธนะกล่าว
นายวรรธนะกล่าวอีกว่า หากบริษัทจะเข้าไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้น จะต้องปรึษากับทางบริษัทฟิลลิปที่ประเทศสิงค์โปรก่อน เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในตราสารอนุพันธ์มากกว่าที่เมืองไทย แต่สำหรับตราสารอนุพันธ์ในประเทศนั้นมีให้เลือกลงทุนเพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกัน เนื่องจากบริษัทเป็นเพียงบริษัทเล็กมีฐานลูกค้าและความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังไม่มากนัก ที่ทำได้อยู่ในขณะนี้คือการสร้างความมั่นคงและขยายกองทุนที่มีอยู่ให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวคิดการเข้าลงทุนอนุพันธ์ของกองทุนหุ้นนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ในช่วงภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยในการสัมนาด้านการลงทุนหลายแห่ง ผู้เชี่ยวชาญต่างแนะนำแก่นักลงทุนเป็นเสียงเดียวกันว่าหากยังต้องการลงทุนในหุ้น แต่ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงที่สูงมาก การแบ่งเงินเข้าไปลงทุนอนุพันธ์ โดยเฉพาะสัญญาระยะสั้นจะเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี โดยเฉพาะเวลาที่ดัชนีลดลงมาก
ขณะเดียวกัน แนวคิดดังกล่าวบริษัทจัดการลงทุนหลายแห่งเริ่มีการนำมาปรับใช้กับกองทุนรวมตราสารทุนของตน ซึ่งล่าสุด บลจ.วรรณ นับเป็นบริษัทจัดการอีกรายที่ได้เริ่มปรับนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้แล้ว โดยเฉพาะกองทุนเปิดวรรณเอเอ็มสมาร์ทหุ้นระยะยาว (1SMART-LTF) เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการขึ้นลงของตลาดหุ้นด้วยตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์