xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University) และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

ตราสารอนุพันธ์ บทเรียนก่อนการเลือกลงทุนใน
SET50 Index Futures / SET50 Index Options / Stock Future / และอนุพันธ์ทองคำ (ตอน 3)


ท่านผู้อ่านคงได้ทราบถึงกลไกการทำงานเบื้องต้นของตราสารอนุพันธ์ ไปบ้างแล้ว ผู้เขียนจึงจะขอแนะนำถึงประโยชน์ของการใช้ตราสารอนุพันธ์ เพื่อให้ท่านผุ้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ตราสารอนุพันธ์ ซึ่งจะต้องมีการใช้อย่างมากขึ้นในประเทศไทยในอนาคต

ประโยชน์โดยทั่วไปของการมีและใช้ตราสารอนุพันธ์ คือ ประโยชน์ของการสะท้อนถึงราคาสินค้าในอนาคต ตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทยางแผ่นรมควันชั้น 3 หากไม่มีระบบการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยแล้ว การซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 คงต้องเป็นไปตามระบบดั้งเดิม ก็คือการผลิตแล้วรอขาย ซึ่งผู้ผลิตก็จะไม่ทราบว่าสินค้าของตนนั้นจะขายได้เมื่อใด จำนวนเท่าใด และราคาเท่าใด และฝ่ายผู้ซื้อเองก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันว่า จะซื้อสินค้าดังกล่าวได้ครบตามจำนวนที่ต้องการหรือไม่ และจะซื้อได้ในราคาใด

ด้วยการที่มีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย จึงทำให้ความกังวลใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเกษตรหมดไป คือ ฝ่ายผู้ขายก็จะทราบถึงมูลค่าที่ตนเองจะได้รับจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้ซื้อก็จะได้รับทราบถึงราคาในอนาคตว่าจะซื้อได้ในราคาใด เมื่อผู้ผลิตทราบว่าราคาสินค้าจะขายได้เท่าใด จำนวนเท่าใด ในอนาคต ผู้ผลิตก็จะจำการผลิตตามจำนวนที่ตนสามารถขายได้ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายทราบว่าราคาในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นการสะท้อนราคาในอนาคตของสินค้าเกษตร

ประโยชน์ประการที่สอง ของการมีตราสารอนุพันธ์ คือ การใช้ในการป้องกันความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยมีสินค้าจำนวน 1,000 ชิ้น ๆ ละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้เท่ากับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และผู้ขายให้ชำระค่าสินค้าในอีก 2 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำเข้าสินค้ารายนี้ คือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าหากอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนไปเป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้นำเข้าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทันที

ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงของผู้นำเข้ารายนี้ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าจากธนาคาร โดยทำการตกลงอัตราแลกเปลี่ยนกันล่วงหน้า เช่น กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับอีกสองเดือนข้างหน้าในอัตรา 36 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ การทำเช่นนี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้นำเข้าสินค้า ในการที่จะต้องชำระเงินในอนาคต เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ประโยชน์ประการสุดท้าย คือ การนำเอาตราสารอนุพันธ์ไปใช้ในการเก็งกำไร บุคคลที่มีความสำคัญที่สุดของกลไกในระบบตลาดตราสารอนุพันธ์ หรือตลาดซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้ คือ นักเก็งกำไร เพราะนักเก็งกำไรจะทำให้ตลาดอนุพันธ์มีสภาพคล่องสูง ราคาไม่เป็นไปเกินมากกว่าความเป็นจริง นักเก็งกำไรเป็นผู้ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของราคาอนุพันธ์ ไม่ได้เป็นผู้ที่จะต้องการใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือตราสารทางการเงินที่ระบุไว้ในสัญญา

หากเราจะแบ่งประเภทของตราสารอนุพันธ์ เราจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures & Forward Contracts) ออปชัน (Options) และสัญญาสวอป (Swap Transaction) แต่ตราสารอนุพันธ์เหล่านี้มีรายละเอียดต่าง ๆ อีกมากที่ทำให้มีความแตกต่างกัน และตราสารอนุพันธ์เหล่านี้ก้ยังมีลักษณะหรือประเภทอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายเพิ่มเติมในตอนต่อ ๆ ไป

ผู้เขียนขอแนะนำตราสารอนุพันธ์ทั้ง 3 ประเภทใหญ่ ๆ ให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักถึงประเภทของตราสารอนุพันธ์ในเบื้องต้น คือ

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures & Forward Contract) เป็นสัญญาซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคล หรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่า จะมีการซื้อขายสินทรัพย์ (ซึ่งอาจเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน หรือสินทรัพย์ทางการเงิน) ในอนาคต โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ ดังนั้นภาระของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาทำการส่งมอบในอนาคต และฝ่ายผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต เช่น คู่สัญญาทำการตกลงจะซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อระยะเวลาถึงกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญา (มักจะเรียกว่าวันที่สัญญาครบกำหนดอายุ หรือ Maturity Date) คือ ผู้ซื้อจะต้องนำเงินบาทมาชำระค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และฝ่ายผู้ขายก็จะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาส่งมอบเช่นเดียวกัน

ออปชัน (Option) เป็นสัญญาที่มีลักษณะคล้ายกันกับ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทแรก แต่แตกต่างกันที่สัญญาประเภท ออปชัน เป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทำการซื้อสัญญาออปชัน ว่าจะมีสิทธิในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ใด ๆ ตามสัญญา ดังนั้นสิทธิของการทำตามสัญญานั้นจะเป็นของฝ่ายผู้ซื้อสัญญาซื้อหรือขายล่วงหน้า สิทธินั้นขึ้นอยู่กับว่าสัญญาเป็นการซื้อหรือขาย สำหรับฝ่ายผู้ขายเป็นฝ่ายที่ไม่มีสิทธิเลือกใด ๆ เพราะฝ่ายขายเป็นผู้ที่เขียนสัญญาขึ้นมาขาย และเป็นผู้ที่ได้รับค่าสัญญาไปตั้งแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิในการเลือกใด ๆ

สัญญาสวอป (Swap) เป็นสัญญที่มีการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างคู่สัญญา หรือเป็นสัญญาที่มีการแลกเปลี่ยนภาระการลงุทน หรือภาระดอกเบี้ยของคู่สัญญา

ตราสารอนุพันธ์ทั้ง 3 ประเภทนี้ เป็นตราสารทางการเงินที่มีการทำธุรกรรมอยู่บ้างในประเทศไทย เช่น การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้ากับธนาคาร การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย การซื้อขายตราสารประเภท SET 50 Index Futures และ SET 50 Index Option ในตลาดอนุพันธ์ ซึ่งโดยรวมแล้วประเทศไทยยังคงมีตราสารอนุพันธ์ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น