xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมความเสี่ยง
บลจ.อยุธยา จำกัด

การที่ทาง ธปท. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยถึง 1% ในการประชุมเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) เป็นการบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ และปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะจบอย่างสมบูรณ์เมื่อใด ในส่วนของเศรษฐกิจโลก จากการรวบรวมของ FocusEconomics ล่าสุด (ประจำเดือน ธ.ค. 2551) ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.9% ในปีนี้ และขยายตัวเพียง 2.1% ในปีหน้า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ปกติเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณ 3% ต่อปี โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 0.2% เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 0.4% ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่ขยายตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือน ต.ค. ที่รายงานโดย ธปท. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลง น่าจะส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าลง

การที่เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวเช่นนี้ ท่านนักลงทุนหลายท่านคงมีความกังวลมากยิ่งขึ้นว่า จะจัดการกับเงินของท่านอย่างไรดี ที่เลวร้ายกว่านั้น บางท่านอาจกำลังจะตกงาน เพราะบริษัทที่ท่านทำงานอยู่มีความจำเป็นต้องลดภาระค่าใช้จ่าย แต่สำหรับท่านที่มีหน้าที่การงานที่มั่นคง ก็คงมองหาแนวทางที่จะทำเงินของท่านให้งอกเงยได้มากที่สุด ท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน สำหรับแนวทางในการปฏิบัติที่ฟังดูง่าย (แต่สำหรับบางท่านอาจจะปฏิบัติตามยาก) เพื่อฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สำรวจสถานะการออมและความจำเป็นในการใช้เงิน การสำรวจความจำเป็นในการใช้เงิน คือจุดเริ่มต้นที่จะบอกได้ว่าท่านยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด สำหรับท่านที่ยังอายุไม่มาก และยังไม่มีภาระในการใช้จ่ายมากนัก ก็อาจจะมีความกังวลน้อยกว่าผู้ที่มีภาระในการใช้จ่ายมาก ในขณะที่ ผู้ที่มีอายุมากแล้ว และมีแนวโน้มที่จะตกงาน ก็อาจจะมีความกังวลมากเป็นพิเศษ หากว่าไม่ได้มีการเก็บออมไว้ก่อนล่วงหน้า ท่านควรจะประเมินว่าเงินที่ท่านเก็บออมไว้มีจำนวนเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้นานเพียงใด และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เช่น จ่ายค่าเทอมลูก จ่ายค่าเช่าบ้าน เป็นต้น

2. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น วิธีในการเพิ่มความสามารถในการออมที่ง่ายที่สุดก็คือ การลดรายจ่าย หากท่านนักลงทุนจดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ ท่านอาจพบว่ามีรายจ่ายหลายรายการที่ไม่จำเป็น ซึ่งหากท่านลดการใช้จ่ายเหล่านั้นลง ท่านอาจมีเงินออมมากกว่าในปัจจุบันหลายเท่าก็เป็นได้ แต่สิ่งที่ยากก็คือ ท่านจะต้องเอาชนะความอยากในการใช้จ่ายของท่านให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งคงจะลดราคาสินค้าลงมากกว่าปกติ เพื่อให้ตัวเลขยอดขายของทั้งปีออกมาดี ดังนั้น ท่านควรระมัดระวังการใช้จ่ายของท่าน โดยใช้จ่ายแต่พอดี

3. หารายได้เสริม อีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มความสามารถในการออมก็คือ การหารายได้เสริม บางท่านอาจจะแย้งว่า ปัจจุบันก็หางานยากอยู่แล้ว จะหารายได้เสริมได้อย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว ท่านสามารถหารายได้เสริมได้หลายทาง สำหรับท่านที่มีความรู้ความสามารถ ก็อาจไปสอนพิเศษ เช่น สอนเลขให้แก่เด็กๆ สอนเทนนิส สอนเปียโน บางท่านอาจจะทำขนมหรือของเล็กน้อยๆขาย หรือบางท่านอาจจะไปสมัครเป็นพนักงานขายของตามห้างชั่วคราวก็ได้ บางทีท่านอาจจะพบว่างานที่ท่านทำเพื่อหารายได้เสริม อาจเป็นงานที่สร้างรายได้ ได้ดีกว่างานประจำที่ท่านทำอยู่ก็ได้ อย่างเช่น เจ้าของอู่ซ่อมรถที่ผมเคยใช้บริการเป็นประจำ แต่ก่อนมีอาชีพเสริมคือขายก๋วยเตี๋ยว แต่ในปัจจุบัน เขาได้ขายอู่ซ่อมรถ และเปลี่ยนอาชีพมาขายก๋วยเตี๋ยวอย่างจริงจัง เพราะเขาสามารถสร้างรายได้จากการขายก๋วยเตี๋ยวได้ดีกว่าการซ่อมรถหลายเท่า

4. เลือกช่องทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสม เมื่อท่านประเมินความเสี่ยงจากความจำเป็นในการใช้เงิน และความสามารถในการออม (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้) แล้ว ขั้นสุดท้ายก็คือ การเลือกช่องทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวท่าน ตัวอย่างเช่น หากท่านมีการออมเพียงเล็กน้อย และมีแนวโน้มว่าจะตกงาน ท่านควรจะออมหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากธนาคาร หรือลงทุนในกองทุนตลาดเงินที่มีนโยบายลงทุนเฉพาะในตราสารภาครัฐ ในขณะที่หากท่านเป็นผู้ที่มีการออมอย่างเพียงพอ และยังคงมีรายได้ต่อเนื่อง ท่านอาจจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น ได้ เพราะในปัจจุบัน ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงมากแล้ว หากท่านไม่แน่ใจว่าท่านควรออมหรือลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ท่านอาจปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินของหลายๆกองทุนรายก็ได้

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น