xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักสุดยอดนักลงทุน : วอเร็น บัฟเฟตต์ (3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วอเร็น บัฟเฟตต์
คอลัมน์ Money DIY
Yeoman Warders
yeomanwarders-dailymanager.com

ขอต่อจากครั้งที่แล้วครับ ว่าทำไม่เบิร์กชายร์ แฮธาเวย์ ที่บริหารโดยวอเร็น บัฟเฟ็ตต์จึงน่าสนใจนักในสายตานักลงทุน ขอทบทวนสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่ตอนแรกๆ (เมื่อ 2 เดือนก่อนนี่เองครับ) เบิร์กชายร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ โดยบริษัทนี้ทำมาหารับทานด้วยการลงทุนในกิจการบริษัทอื่นๆหลากหลายอุตสาหกรรม หรือภาษาฝรั่งเรียกกันว่า Diversified Holding Company ซึ่งก็คล้ายๆกองทุนรวมปิดที่ลงทุนในหุ้น แล้วสามารถซื้อขายกองทุนนี้กันได้ในตลาดหลักทรัพย์ ต่างกันแต่เพียงว่าเบิร์กชายร์เป็นบริษัท ไม่ใช่กองทุน และธุรกิจที่เบิร์กชายร์ไปลงทุนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปซื้อทั้งบริษัทแทนที่จะซื้อบางส่วนเหมือนกองทุนรวมทั่วไป (แต่ก็ยังมีเงินบางส่วนไปถือหุ้นในบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน)

สำหรับเหตุผลที่นักลงทุนสาย Value Investors ให้ความสนใจลงทุนในบริษัทนี้กันนัก ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน ดังนี้ครับ

1) มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำสุดๆ : เทียบกับเจ้าพ่อด้านการบริหารกองทุนเชิงรับอย่าง Vanguard Fund ซึ่งพะยี่ห้อสุดยอดด้านการเก็บค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนที่ต่ำสุดๆนั้น คิดค่าบริหารจัดการกองทุนต่อปีเกือบ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่เบิร์กชายนั้น มีค่าใช้จ่ายด้านการจัดการเพียงประมาณ 6 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยมีสำนักงานใหญ่ขนาดเพียงแค่ 3,700 ตารางฟุต และพนักงานเพียง 12 คน อยู่ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสก้า แต่ที่น่าต๊กกะใจไปกว่านั้น คือ ตัวคุณปู่บัฟเฟ็ตต์นั้นแกรับเงินเดือนในฐานะ CEO หรือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารที่ต่ำเตี้ยเพียงปีละ 100,000 เหรียญเท่านั้น! ผมเขียนไม่ผิดหรอกครับ ไม่ใช่ต่อเดือน แต่เป็นต่อปีแน่นอน คิดเป็นเงินไทยแล้วแกรับเงินเดือนเพียงเดือนละไม่เกิน 300,000 บาท (ผมว่า CEO เมืองไทยยังได้เยอะกว่ากันแยะเลย ไม่ต้องไปนับพวกมนุษย์ทองคำ ที่เพิ่งตกงานจากเลห์แมน มอร์แกนสแตนเลย์ และอื่นๆอีกมากมาย ที่รายได้ต่างกันแบบไม่เห็นปลายฝุ่น) สรุปว่า ถ้ามองเบิร์กชาย เป็นกองทุนประเภทหนึ่งละก็เรื่องค่าใช้จ่ายนี่ต่ำแบบกินขาดครับ

2) ทำหน้าที่คล้ายกองทุนรวม อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นครับว่าเบิร์กชายร์นั้นคล้ายกับกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนมือฉมังอย่างวอเร็น บัฟเฟ็ตต์ เป็นผู้บริหารจัดการ โดยเลือกลงทุนในธุรกิจแบบซื้อยกบริษัท หรือลงทุนบางส่วนในบริษัทที่แกเห็นว่าเจ๋งจริงๆ

3) ราคามักต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากหุ้นบริษัทนี้มีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างจำกัด เพราะมีแต่คนกันเองถือซะเยอะ เป็นเหตุให้ราคาหุ้นซื้อขายกันในระดับที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นแล้ว หุ้นแกก็ไม่ได้อยู่ในดัชนีดาวโจนส์ หรือ เอสแอนด์พี 500 เลยทำให้พวกกองทุนทั้งหลายไม่จำเป็นต้องดิ้นรนซื้อหามาเป็นเจ้าของ

4) เจ้าของบริหารเอง : ส่วนใหญ่แล้วพวกบริษัทบิ๊กเบิ้มทั้งหลาย น้อยนักที่จะมีเจ้าของบริหาร ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพถูกจ้างมาให้จัดการบริษัท สำหรับเบิร์กชายร์นี่ บัฟเฟ็ตต์แกถือเป็นสมบัติครอบครัวเลยครับ เพราะตัวแกและครอบครัวถือรวมกันก็ปาเข้าไปเกือบ 40% ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งนิสัยเจ้าของก็รู้ๆกันอยู่ครับว่า ต้องทำทุกอย่างให้บริษัทได้ดี แบบมีต้นทุนต่ำ แต่จะต่างจากเจ้าของแบบโบราณตรงที่ว่าแกมาแนวครบเครื่อง คือ เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่าย (ไม่ใช่จ่ายเงินเดือนลูกน้องต่ำๆ เพื่อให้มาแบกกระสอบเดินรอบออฟฟิศ) แถมให้โอกาสเป็นเจ้าของ บวกด้วยแผนธุรกิจที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีแนวทาง

5) พอร์ตการลงทุนไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่ว่ากองทุนไหนๆเขาจะซื้อขายหุ้นกันให้อีนุงตุงนัง แต่สำหรับเบิร์กชายร์แล้ว นอกจากจะซื้อกิจการแบบเหมาหมด ก็มีบางส่วนไปลงทุนในหุ้นที่บัฟเฟ็ตต์เห็นว่าดี แต่แกไม่มีปัญญาไปซื้อเขามาทั้งบริษัท เช่น เครื่องดื่มน้ำดำยอดนิยมอย่าง โคคา โคลา บริษัทผลิตใบมีดโกนยิลเล็ตต์ เครือข่ายห้างสรรพสินค้าชื่อดังวอลล์มาร์ท หรือผู้นำด้านสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกอย่างพรอกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ที่ขายของเกือบทุกอย่างที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นยาสระผมแพนทีน ครีมทาหน้าโอเล ยาสีฟันออรัล บี ฯลฯ) ซึ่งบัฟเฟ็ตเคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า “การเป็นเจ้าของแม้เพียงบางส่วนของโคตรเพชร นั้นยังมีคุณค่ากว่าการเป็นเจ้าของกากเพชรทั้งหมดเป็นไหนๆ”

6) ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของ บัฟเฟ็ตต์มองว่าธุรกิจที่แกเป็นเจ้าของผ่านเบิร์กชายร์นั้น “ไม่ได้มีเอาไว้ขาย ในราคานั้นราคานี้” แต่เป็นธุรกิจที่มี “ความคงทนและยั่งยืน” พร้อมที่จะหา และรอโอกาสที่มีเข้ามาไม่ว่าจะอยู่ในภาวะการณ์แบบใด และไม่ว่าจะเป็นเวลายาวนานซักแค่ไหน (โหย....ฟังแล้วยังกะแกจะไปจีบหญิงยังไงไม่รู้)

7) มีแหล่งที่มาของรายได้กระจายตัวอยู่ทั่วโลก : แม้เบิร์กชายร์จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ก็มีรายได้จากธุรกิจ ผ่านบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อย่างเช่น โคคา โคลา ซึ่งมีรายได้ 70% มาจากประเทศที่นอกจากอเมริกาเหนือ เคยลงทุนในหุ้นปิโตรไชน่าของจีน (ซึ่งขายไปแล้วเนื่องจากราคาขึ้นไปสูงแบบบ้าระห่ำกว่าที่แกคิดว่าควรเป็นอย่างมากในเวลารวดเร็ว ซึ่งถือว่าแกเดินเกมส์เหนือชั้นอีกตามเคย!) และบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โลหะขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในอิสราเอล เป็นต้น

8) ใช้ “มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น”แสดงผลประกอบการ โดยการนำเอาสินทรัพย์ ลบด้วยหนี้สิน ซึ่งเป็นวิธีที่อนุรักษ์นิยมเอามากๆในการประเมินธุรกิจ โดยเบิร์กชายร์ใช้อัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ในการแจ้งผลการดำเนินงานให้กับผู้ถือหุ้น แทนการใช้ราคาตลาด ซึ่งถ้านับตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อตั้งในปี 2507 ถึง 2550 ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 21.1% ต่อปี

9) เปิดเผยข้อผิดพลาดที่ทำไปให้ผู้ถือหุ้นรู้ ปกติแล้วผู้บริหารมักจะต้องพยายามสุดความสามารถที่จะต้องปกปิดความผิดพลาด หรือความสะเหล่อแป๊ะที่ได้ไปทำเอาไว้แล้วทำให้ผลประกอบการของบริษัทแย่ลง แต่สำหรับคุณปู่บัฟเฟตต์แล้ว แกก็จะนั่งสาธยายเป็นคุ้งเป็นแควว่าปีที่แล้วแกไปพลาดพลั้ง เผลอเรออะไรไว้บ้าง ใน “จดหมายรายปีถึงผู้ลงทุน” ซึ่งในโรงเรียนบริหารธุรกิจชั้นนำทั้งหลายในโลก กำหนดให้เป็นจดหมายภาคบังคับที่ต้องอ่าน (รับรองว่าอ่านกันมันส์อย่าบอกใคร!)จบไม่ลงอีกแล้ว หนหน้ามาต่อกันอีกครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น