xs
xsm
sm
md
lg

คาดเม็ดเงิน 7 $แสนล.ไม่พอกู้วิกฤตฯ "บัฟเฟตต์" ชี้ อเมริกันกำลังขวัญเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โบรกฯ คาดทั่วโลกแตะเบรกลงทุน ลุ้นแผนกู้วิกฤตฯ ภาคสอง เข้าสภาล่างศุกร์นี้ แนวโน้มรอดหรือร่วง หวั่นแม้ผ่านจริงแต่เงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ อาจไม่พอกู้หนี้เน่า ด้านตลาดหุ้นย่านเอเชีย พร้อมใจร่วงระนาว "บัฟเฟตต์" ชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ในช่วงเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยประสบในช่วงชีวิตการลงทุน สถาบันการเงินหยุดปล่อยสินเชื่อ ภาคเอกชนจำเป็นต้องดิ้นรนเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวอเมริกันกำลังตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

วันนี้ ( 2 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ ลิมป์ธำรงกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภาสหรัฐฯ (สภาบน) ลงมติให้ความเห็นชอบแผนกู้วิกฤติมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียงชนะท่วมท้น 74 ต่อ 25 จะส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ตกไป และจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) หรือสภาคองเกรส อีกครั้ง อาจช่วยลดความกังวลต่อวิกฤตของภาคการเงินไปได้บ้าง

อย่างไรก็ตามในช่วงที่แผนกอบกู้วิกฤตฯ ยังไม่ได้มีข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจนจากสภาคองเกรส ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ ทำให้นักลงทุนบางส่วนอาศัยจังหวะทำกำไร หรือลดความเสี่ยง โดยถือเงินสด เพราะภาพรวมตลาดหุ้นในภูมิภาค ยังถูกกดดันจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ

ตอนนี้ นักลงทุนน่าจะชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนในท้ายที่สุดของแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินยังต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ความไม่แน่ใจต่อประสิทธิภาพของแผนและขนาดของความช่วยเหลือว่าจะเพียงพอหรือไม่ ขณะที่ทิศทางของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ยังปรับลดลงเพื่อประเมินความเสี่ยงของการลงมติครั้งที่สองของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการลงมติในวันศุกร์ อาจกดดันให้เกิดแรงขายทำกำไรทั่วทุกตลาด

"นักลงทุนกังวลว่าเม็ดเงิน 7 แสนล้าน อาจจะไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลก กำลังตกต่ำจากวิกฤตการเงินที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

เช่นเดียวกับตลาดโภคภัณฑ์และตลาดการเงิน ที่ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้ด้วย โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกค่อนข้างผันผวน โดยวานนี้ตัวลดลงไป 2.11 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 98.53 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนค่าเงินทั่วโลก ก็เคลื่อนไหวแบบไร้เสถียรภาพ ล้วนแต่เป็นปัจัจยกดดันต่อตลาดหุ้นและตลาดทุนไทยทั้งสิ้น

นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในรอบนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้นแค่ระยะสั้นเท่านั้นประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 11.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็ปรับลดลงไป 123 จุด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯในครั้งนี้ด้วย

**ชาวอเมริกันขวัญผวา แบงก์-ธุรกิจ ดิ้นหนีตาย

ก่อนหน้านี้ นายวอเรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของสหรัฐฯ ผู้ก่อตั้ง "เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์" กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์พีบีเอส โดยระบุว่า ในตลอดชั่วชีวิตของเขา ยังไม่เคยเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายอย่างที่เคยปรากฎในขณะนี้มาก่อน และไม่เคยเห็นชาวอเมริกันหวาดกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจรุนแรงเท่านี้มาก่อน พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจของเรากำลังจะเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายลงไปอีกสักระยะหนึ่ง

โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา "เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์" ของบัฟเฟตต์ ได้ใช้เงินลงทุน 8 พันล้านดอลลาร์ ในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิของเจเนอรัลอิเล็กทริค (จีอี) และหุ้นโกลด์แมนแซคส์ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน

นอกจากนี้ นายบัฟเฟตต์ ยังกล่าวด้วยว่า การระงับการปล่อยสินเชื่อท่ามกลางวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยฟันธงว่า การหยุดปล่อยสินเชื่อกำลังสูบเลือด หรือสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญวิกฤตในขณะนี้

**ลำดับเหตุการณ์ วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ

16 มี.ค. 2551 "แบร์ สเติร์นส์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หลังขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาสและลูกค้าแห่ถอนเงินสดจำนวนมาก

11 ก.ค.2551 รัฐบาลสหรัฐประกาศยึดกิจการธนาคาร "อินดีแมค" หลังจากธนาคารขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะได้รับความเสียหายจากภาวะหดตัวในตลาดสินเชื่อ ราคาบ้านที่ทรุดตัวลง และยอดการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น

7 ก.ย.2551 เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐ เข้าอุ้มกิจการ "แฟนนี แม" และ "เฟรดดี แมค" สองหน่วยงานด้านสินเชื่อเพื่อการเคหะที่ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

15 ก.ย.2551 ในที่สุด เลห์แมน บราเธอร์ส ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงนิวยอร์ก ข่าวการล้มละลายของเลห์แมน ซึ่งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วระบบสถาบันการเงินของโลก เพราะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินของสหรัฐ และ ถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี

- ในวันเดียวกันนี้ "เมอร์ริล ลินช์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้กับ แบงค์ ออฟ อเมริกา

16 ก.ย.2551 เฟดเข้าเทคโอเวอร์กิจการบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) แลกเปลี่ยนกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ใน AIG

22 ก.ย.2551 "โกลด์แมน แซคส์" และ "มอร์แกน สแตนลีย์" สองวาณิชธนกิจที่เหลืออยู่ในวอลล์สตรีท ได้รับอนุมัติจากเฟดให้เปลี่ยนสถานะเป็น "บริษัทโฮลดิ้งธนาคาร" เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น

25 ก.ย.2551 "เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค" ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ "วอชิงตัน มูชวล" สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มูชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น