ตลาดหุ้นไทยยังซึมต่อเนื่อง นักลงทุนรอดูสถานการณ์ ดัชนีเช้าปิดลบ 5.85 จุด โบรกฯ คาดแรงวิตกกังวลวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาด ส่วนประเด็นการเมือง ไม่มีน้ำหนักในช่วงนี้
ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ (25 ก.ย.) ดัชนีปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 614.58 จุด ลดลง 5.85 จุด เปลี่ยนแปลง -0.94% มูลค่าการซื้อขาย 3,268.30 ล้านบาท นักวิเคราะห์เผยตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งแคบ ซึมลงคาดรับแรงขายของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนสถาบันยังไม่กล้าลงทุนมากนัก โดยปัจจัยหลักมาจากการรอดูรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินในสหรัฐฯ วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นทางการเมืองในประเทศช่วงนี้ ไม่ได้มีน้ำหนักต่อตลาดฯ
นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าที่ผ่านมาแกว่งตัวในกรอบแคบๆ อีกทั้งมีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง ซึ่งเป็นการปรับตัวลงตามทิศทางของตลาดหุ้นในภูมิกาคเอเชียที่ส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลลบจากกรณีที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบดาวโจนส์ปิดลบ 29 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินของรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ที่มีความช้าล่าในสภาคองเกรส โดยว่าจะสามารถผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสเมื่อใด และจะช่วยฟื้นฟูภาคการเงินได้จริงหรือไม่ ส่งผลให้กลบข่าวดีวานนี้ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับปัจจัยบวกจากกรณีที่ว่าบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ ในโกลด์แมน แซคส์ ประกอบกับมีแรงเทขายออกมาบางส่วนทำกำไร หลังจากวานนี้ที่ดัชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดีดังกล่าวในช่วงสั้นๆ
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในคืนนี้ คือ กรณีที่นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการเรียกประชุมด่วน เพื่อหารือร่วมกับประธานสภาคองเกรสเพื่อเร่งหาข้อสรุปหารือที่ทำเนียบขาวเกี่ยวกับมาตรการกู้วิกฤตภาคการเงินมูลค่า 700 พันล้านดอลลาร์ โดยเร่งด่วน ก่อนปัญหาดังกล่าวจะลุกลามไปยังเศรษฐกิจภาคใหญ่ และเผชิญภาวะถดถอยที่รุนแรง
นายปรเมศร์ ทองบัว ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยจะปรับตัวลง เนื่องจากตลาดฯยังมีความกังวลเกี่ยวกับพอร์ตลงทุนของทางฝั่งสหรัฐฯฯ ที่อาจจะมีการขายลดพอร์ตลงทุนออกมาได้ สังเกตุได้จากต่างชาติมีการขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ก็มีการแกว่งตัว ทั้งบวก-ลบ
ตลาดหุ้นช่วงนี้มีปัจจัยหลักมาจากการรอดูรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินในสหรัฐฯ วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนจับตาดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นทางการเมืองในประเทศช่วงนี้ไม่ได้มีน้ำหนักต่อตลาดฯ พร้อมมองว่า การทำ window dressing ก่อนปิดงบไตรมาส 3/51 ไม่น่าจะทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นไปได้มาก
นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ซึมลง คาดว่าจะเป็นไปตามแรงขายของต่างชาติที่ออกมา และหากนักลงทุนรายสถาบันไม่กล้าเข้าลงทุนมากนัก เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงบ่ายก็น่าจะซึมลงต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักของตลาดฯยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 600-606 จุด แนวต้าน 620-625 จุด
นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซิกโก้ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าปรับตัวลดลงจากแรงขายทำกำไรภายหลังจากวานนี้ตลาดหุ้นปรับขึ้นแรงกว่า 12 จุด จากที่นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรจากคาดการณ์ว่า ข่าวที่นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนรายใหญ่เจ้าของบริษัทเบิร์กไชร์แฮธาเวย์ เปิดเผยว่า จะลงทุนในบริษัท Goldman Sachsประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ในรูปของการซื้อหุ้นบุริมสิทธิเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะการเงินของ Goldman Sachs จะคลี่คลายความตึงเครียดของวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ได้นั้น แต่ปรากฎว่าดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ คืนวานนี้ กลับไม่ตอบรับข่าว และปรับตัวลงจากแรงกดดันในประเด็นแผนกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ยืดเยื้อออกไป และยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากจากสภาคองเกรสที่แสดงท่าทีคัดค้านอย่างหนักหนักว่า เป็นการนำเงินภาษีประชาชนจำนวนมากเข้าอุ้มชูองค์กรธุรกิจและสถาบันการเงินที่บริหารงานผิดพลาด ทำให้ความวิตกต่อปัญหาวิกฤตภาคการเงินเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีก ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติยิ่งเทขายเพื่อรักษาสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงจากแผนกู้วิกฤตที่ล่าช้า
ส่วนแนวโน้มในช่วงบ่ายคาดว่าดัชนีฯ จะอยู่ในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่อง เพราะความหวังในการกอบกู้วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ด้วยมาตรการตั้งองค์กรซื้อหนี้เสียที่ใช้วงเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มเป็นไปได้ยากเพราะการตัดสินใจของสภาคองเกรสในการอนุมัติแผนการช่วยเหลือภาคการเงินในวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ยืดเยื้อต่อไปหลังจากมีเสียงโจมตีอย่างหนัก ถึงแผนการที่จะนำเงินภาษีจำนวนมหาศาลของประชาชนมาโอบอุ้มภาคธุรกิจ และรายละเอียดของแผนที่ยังไม่ลงตัวในเรื่องของขนาดและขอบเขต ในการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา โดยล่าสุด นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมบางประเด็นในร่างมาตรการกอบกู้วิกฤตภาคการเงิน หลังการพิจารณาในสภาคองเกรสดำเนินไปอย่างล่าช้า
สำหรับในส่วนของโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่ออกมาอย่างเป็นทางการ มองว่า ไม่ได้ดูดีไปกว่าคณะรัฐมนตรีชุดที่สิ้นสภาพไป เพราะรายชื่อแต่ละตำแหน่งยังออกมาในลักษณะของการต่อรองผลประโยชน์จากแต่ละขั้วอำนาจในพรรครัฐบาลและเชื่องโยงอย่างเด่นชัดถึงขั้วอำนาจเก่าที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไปไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการบริหารประเทศจึงไม่ได้เป็นตัวแปรที่เรียกความเชื่อมั่นประชาชนขึ้นมาได้แต่อย่างใด