xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักสุดยอดนักลงทุน : วอเร็น บัฟเฟตต์ (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วอเร็น บัฟเฟตต์
โยแมน
yeomanwarders-dailymanager@yahoo.com

ครั้งที่แล้ว ได้มีโอกาสเล่าถึงนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 อย่างวอเร็น บัฟเฟ็ตต์ไปบ้างแล้ว คราวนี้จะขอเล่าถึงแนวคิดนักลงทุนผู้นี้กันต่อครับ

เหตุที่เบิร์กชายร์ แฮธาเวย์เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมาก ก็เนื่องมาจากการเจริญเติบโตของมูลค่าหุ้นบริษัทตลอดระยะเวลาสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่ลงทุนในเมื่อบริษัทเพิ่งเริ่มต้น ด้วยเงินเพียง 10,000 เหรียญฯ คนๆนั้นในวันนี้ จะมีหุ้นที่มีมูลค่าทางบัญชีสูงถึงกว่า 40 ล้านเหรียญฯ หรือกว่า 1,300 ล้านบาท! คือรวยกันแบบเอาเป็นเอาตายไปเลยครับ!

ทั้งนี้ บัฟเฟตต์ ได้ให้หลักการลงทุนเอาไว้ใน “คู่มือการเป็นเจ้าของ” (Owner’s Manual) และ “จดหมายถึงผู้ถือหุ้น” (Letter to Berkshire Shareholders) ที่เขียนปีละครั้งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2520 โดยในสายตาของบัฟเฟตต็ โลกธุรกิจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ “สุดยอดธุรกิจในฝัน” (Wonderful Businesses) ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก และมีคุณค่าน่าลงทุนในราคาที่เหมาะสม กับอีกส่วน คือ ธุรกิจที่ทั้งห่วยและแย่ ไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะยาว ในความเห็นของแกนั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับราคาที่เสนอขาย แต่ในบางช่วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งพวกสุดยอดธุรกิจในฝันเหล่านี้ กลับถูกขายออกมาในราคาต่ำๆ ซึ่งเมื่อไหร่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็เป็นเวลาที่จะต้องกล้าคว้าโอกาสงามๆนี้ไว้ โดยไม่ต้องใส่ใจถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่ หรือตลาดหุ้นที่ดูเลวร้ายแต่อย่างใด

แล้วหุ้นตกย่ำแย่อย่างนี้หลายคนอาจสงสัยว่าบัฟเฟ็ตต์ออกอาการอย่างไรบ้างหรือไม่ ลองดูคำให้สัมภาษณ์ในรายการ CNN Money เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา แกให้ความเห็นว่า “ไม่มีเหตุผลอันใดที่เราจะต้องกลัวหากหุ้นตก เพราะถ้าหุ้นราคาตกลงถึง 50% ผมก็จะตั้งตารอคอย ที่จริงแล้วผมอยากจะเสนอเงินให้คุณซักก้อนด้วยซ้ำ หากคุณช่วยให้ราคาหุ้นที่ผมถืออยู่ทั้งหมดตกลง 50% ในอีกเดือนหนึ่งข้างหน้าได้”

เป็นอย่างไรครับ เอากับแกสิ เรียกได้ว่าหุ้นตกแค่ไหนแกก็ไม่ยั่นหรอกครับ เพราะเบิร์กชายร์ แฮธาเวย์นั้นมีเงินสดอยู่เหลือเฟือ เนื่องด้วยธุรกิจส่วนใหญ่ คือ ธุรกิจประกันภัยที่มีเงินหมุนเวียนสูง นอกนั้นก็พวกธุรกิจอื่นๆที่ให้กระแสเงินสดอยู่ตลอดเวลา และสม่ำเสมอ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ เบิร์กชายร์มีเงินสดอยู่สูงถึง 31,159 ล้านเหรียญฯ โดยธุรกิจของบริษัทนั้นสามารถผลิดอกออกผลเป็นกระแสเงินสดและเงินหมุนเวียนสูงถึง สัปดาห์ละ 150 ล้านเหรียญฯ

ก่อนหน้านี้บัฟเฟ็ตต์ได้ย้ำไว้ในหลายที่หลายเวลาว่าจะมาคาดหวังให้เบิร์กชายร์ขยายตัวในอัตราสูงอย่างในอดีตไม่ได้แล้ว เพราะขนาดเงินทุนของบริษัทที่ใหญ่โตโอฬารขึ้นอย่างมากนั้นเป็นอุปสรรคที่สำคัญ เพราะบริษัทไม่สามารถจะหาธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจได้ทันกับปริมาณเงินสดที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ภาวะหุ้นตกวินาศสันตะโรเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสงามอีกครั้งหนึ่งของบัฟเฟ็ตต์ หลังจากเคยมีโอกาสกว้านซื้อของดีราคาถูกไปเมื่อต้นทศวรรษที่ 1970 จนเป็นที่มาของการเติบโตอย่างมากของบริษัทตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา

สรุปแล้วบัฟเฟ็ตจะไม่ลงทุนในอะไรที่แกไม่เข้าใจ และไม่มั่นใจในอนาคตของธุรกิจ และในอะไรก็ตามที่ราคาไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง ดังนั้น ช่วงเวลาทองของแกก็คือช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นของบริษัทดีๆอยู่ในอาการย่ำแย่นั่นเอง เพราะจะได้เลือก ช้อปของดีราคาถูกได้ตามใจชอบ เหมือนอย่างที่เพิ่งเลือกซื้อหุ้นของอดีตวาณิชธนกิจระดับโลกอย่างโกลด์แมน แซคส์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ครบวงจรของอเมริกาอย่างจีอี อิเล็กทริกส์ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

บางคนอาจสงสัยว่าบัฟเฟตต์แกกองเงินสดไว้มากมายก่ายกองขนาดนี้ ไม่กลัวตกรถไฟบ้างหรือ หากหุ้นไม่ตกอย่างที่แกอยาก คำตอบก็คือว่า จุดนี้แหละครับที่ทำให้เบิร์กชายร์ แฮธาเวย์แตกต่างจากกองทุนรวม หรือกองทุนเพื่อการลงทุนอื่นๆที่มีอยู่ดาษดื่นในตลาด เพราะแกไม่ต้องสนใจดัชนีชี้วัดที่คนอื่นตั้งขึ้นมา ไม่สนใจใครจะมาว่าผลประกอบการโดยรวมของบริษัทแย่กว่าคนอื่นในช่วงเดือนใดเดือนหนึ่ง หรือปีใดปีหนึ่ง เพราะแกถือว่าการลงทุนในวันนี้ก็เพื่อประโยชน์ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ไม่ใช่จะมาวัดกันที่เดือนนี้เดือนหน้าเหมือนที่ผู้จัดการกองทุนปกติโดนกันอยู่

หลักการของบัฟเฟ็ตนั้นไม่ใช่ซื้อของถูกและทำกำไรดีอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่มีคุณสมบัติด้าน “ความได้เปรียบในการแข่งขัน” (Competitive Advantage) ที่ “คงทน” (Enduring) เพราะไม่เช่นนั้นแล้วธุรกิจก็จะชนะคนอื่นไปได้ไม่นาน เรียกว่าปราการป้องกันข้าศึกไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ควรจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนัก (เช่น พวก High Tech Stock ทั้งหลาย) เพราะต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบอยู่ตลอด เหมือนแม่ทัพที่ต้องสาละวนซ่อมสร้างปราการ เพราะข้าศึกโจมตีได้ทั้งน้ำ ฟ้า บก คือประมาณว่าสงครามสตาร์วอร์รบยากกว่าศึกผาแดงอะไรทำนองนั้นน่ะครับ

นอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว บัฟเฟ็ตต์ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพของผู้บริหารของบริษัทในเครือ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของเดิมของธุรกิจก่อนที่จะมาร่วมกับเบิร์กชายร์ หรือผู้ที่มีความสามารถที่อยู่ในบริษัทนั้นๆมาแต่เดิม และที่สำคัญ คือ ไม่ได้เป็นพวกเน้นเงินเป็นใหญ่ แต่รักที่จะทำงาน และมีจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของสูง ซีอีโอหญิง 2 คนของบริษัทในเครือของเบิร์กชายร์นั้นคนหนึ่งเคยเป็นเพียงพนักงานขายรายชั่วโมง ในขณะที่อีกคนเคยเป็นคนขับแท็กซี่มาก่อน บัฟเฟตต์บอกเลยครับว่า แกไม่ใช่พวกบ้าเห่อเอ็มบีเอเหมือนที่หลายบริษัทระดับโลกเป็นกัน แต่แม้ไม่เน้นเงินเป็นใหญ่ แต่บัฟเฟตต์ถือว่าต้องให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับทุกคนครับ ไม่ใช่ให้มาทำงานไม่คุ้มเหนื่อย

จบไม่ลงอีกแล้ว หนหน้ามาต่อกันอีกครับว่าทำไม เบิร์กชายร์ ถึงได้น่าสนใจนัก ในสายตานักลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น