บลจ. กรุงไทยเปิดขายกองทุนเปิด "กรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้3เดือน4 " และกองทุนเปิด "กรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้ 6เดือน 4 " อายุโครงการ 3 และ 6 เดือน รวมมูลค่า 10,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่มีความมั่นคง อันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่A- ขึ้นไป ชูผลตอบแทน 3.35%ต่อปี และ 3.50%ต่อปี ตามลำดับ เปิดขายIPOพร้อมกัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 2 ธันวาคมนี้ ขณะเดียวกัน คาดแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2552 ชะลอตัว และเริ่มตัวหลังจาก 6 เดือนแรก โดยอัตราการเติบโตทั้งปีเพียง 3.40%
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ บริษัทได้เปิดจำหน่าย 2 กองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้3เดือน4 (KTSUP3M4) และกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้ 6เดือน 4 (KTSUP6M4) โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคง อันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่A- ขึ้นไป และลงทุนในเงินฝากสถาบันการเงิน ซึ่งจะเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนในระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2551
โดยกองทุน KTSUP3M4 มีอายุโครงการ 3 เดือน มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนจะลงทุนในตั๋วแลกเงินของธนาคารกรุงไทย บมจ.พฤกษา บมจ.บัตรกรุงไทย และ บมจ.น้ำตาลมิตรผล ในสัดส่วนบริษัทละ 25% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่งผลให้ผู้ลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนประมาณการที่ 3.35 % ต่อปี
ส่วนกองทุน KTSUP6M4 มีอายุโครงการ 6 เดือน มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยจะลงทุนในเงินฝาก ของธนาคารธนชาติ 20% และลงทุนในตั๋วแลกเงินของ บมจ.พฤกษา บมจ.น้ำตาลมิตรผล บมจ.บัตรกรุงไทย และบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ในสัดส่วนบริษัทละ20%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนประมาณการที่ 3.50%ต่อปี
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ฝ่ายวิจัยของบริษัทได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี2552 จะพบว่าเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยคาดว่าจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงกลางปี และเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆในครึ่งหลังของปี ขณะเดียวกันพบว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก คาดว่าทั้งปีจะเติบโตเพียง 3.40 % โดยอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงจากการปรับฐานราคาเมื่อปีก่อน และการลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าเกษตร อาจเห็นอัตราเงินเฟ้อติดลบในบางเดือน ซึ่งราคาสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้บ้าง แต่เมื่อรวมผลของรายได้ที่ลดลงคาดว่าการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน มีการชะลอตัวลงในปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย
ในส่วนของการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญจะเกิดจากการใช้จ่ายของภาครัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ความล่าช้าในการประมูลและความไม่ชัดเจนทางการเมือง จะทำให้การเบิกจ่ายไม่มากเท่าที่ควรในปี 2552 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้มลดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงประกอบกับไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจะเติบโตในอัตรา5.0% แผนการลงทุนของภาครัฐจะเริ่มมีบทบาท การลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การส่งออกจะเริ่มขยายตัวได้หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเริ่มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่จะไม่รุนแรงเหมือนปี2551 อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ในปี2551 ฝ่ายวิจัยได้สรุปภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก พบว่าเศรษฐกิจขยายตัวดี โดยการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงจากวิกฤติ Subprime ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวชะลอลง เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และจากผลของมาตรการภาครัฐฯ 6เดือน6มาตรการ
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงในช่วงหลังของปี เนื่องจากการไหลออกของเงินทุน และแนวโน้มการขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง0.25%1 หรือมากกว่า ในการประชุมวันที่3 ธันวาคมนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง