xs
xsm
sm
md
lg

สรุปภาวะการเงินเดือนตุลาคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารประเภท Overnight ในเดือนตุลาคม 2551 เฉลี่ยร้อยละ 3.6677 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.6984 ในเดือนที่แล้ว ส่วนปริมาณการกู้ยืมไม่ค่อยคึกคักนัก ซึ่งตลาดเริ่มคลายความกังวลกับวิกฤตสภาพคล่องในตลาดโลก หลังจากที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการอัดฉีดสภาพคล่อง การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน การค้ำประกันเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงิน รวมถึงธปท. ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะพิจารณาแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เกื้อหนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หลังจากการที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ร้อยละ 3.75 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาลง อาทิ สหรัฐฯ ได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ลงถึง 2 ครั้ง โดยในเดือน ต.ค. ปรับลดลงครั้งละ 0.50 ในวันที่ 8 ต.ค. และ 29 ต.ค. จนอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.0 ต่อปี ขณะที่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ธนาคารกลางอังกฤษก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึงร้อยละ 1.50 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.5 อยู่ที่ร้อยละ 3.25

เงินฝาก
สำหรับเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ (จำนวน 34 แห่ง) ในเดือน ก.ย. 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,731.4 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ฝากนิยมฝากเงินในรูปตั๋วแลกเงินมากขึ้น โดยมียอดคงค้างของตั๋วแลกเงินในเดือน ก.ย. 2551 สูงถึง 588.2 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยส่งผลให้ปริมาณเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ฝากเงินนิยมโยกเงินฝากไปตั๋วแลกเงินมากเป็นพิเศษในช่วงสิ้นงวด มิ.ย. และ ธ.ค. เพราะธนาคารต้องการลดเงินสมทบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เนื่องจากตั๋วแลกเงินไม่ได้รับการคุ้มครองดังเช่นการฝากเงินกับธนาคาร

นอกจากนี้ เงินฝากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทย 17 แห่ง ในเดือน ก.ย. 2551 มีจำนวน 6,230.2 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาฐานเงินฝากเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยเน้นในการรับฝากในรูปเงินฝากประจำ และการรณรงค์เงินฝากประจำระยะพิเศษ ซึ่งส่งผลให้เงินฝากประจำระยะ 3-6 เดือน และระยะ 1-2 ปี ขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินฝากประเภทอื่นๆ หดตัว ส่วนเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน สหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงิน ได้มีทิศทางขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยมียอดคงค้างในเดือน ก.ย. 2551 จำนวน 2,002.9 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินเชื่อ
ในส่วนของสินเชื่อจากระบบธนาคารพาณิชย์ (จำนวน 34 แห่ง) ในเดือน ก.ย. 2551 จำนวน 6,128.2 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินเชื่อที่ให้แก่ภาคการผลิต การขายส่ง ขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัย และการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ส่วนสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน มีทิศทางขยายตัวชะลอลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 ซึ่งตรงข้ามกับการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีทิศทางดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2550 โดยมียอดคงค้างในเดือน ก.ย. 2551 จำนวน 2,317.8 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย 17 แห่งในเดือน ก.ย. 2551 มีจำนวน 5,752.8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง พบว่า ธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ธ. กรุงศรีอยุธยา โดยมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 22.7 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าซื้อกิจการ GECAL ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และจากการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่อรายย่อยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท , ธ. กสิกรไทย สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจต่างประเทศ , ธ. กรุงเทพ สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 , ธ. ไทยพาณิชย์ มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 ซึ่งมาจากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ และธ. กรุงไทย ปรากฏสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6

แนวโน้มภาวะการเงินในเดือน พ.ย. 2551
ในด้านของสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินอาจตึงตัวมากขึ้น หากพิจารณาจากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 92.4 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 96.7 ในเดือน ก.ย. 2551 ส่วนหนึ่งเนื่องจากสินเชื่อที่ขยายตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2550 ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หากนับรวมตั๋วแลกเงินเข้าไปในเงินฝากแล้ว สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือน ก.ย. 2551 อยู่ที่ร้อยละ 90.6 เทียบกับสิ้นปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 87.3 ขณะที่สภาพคล่องหากพิจารณาจากสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 17 แห่ง พบว่า มีปริมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.1 ต่อสินทรัพย์รวม

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังคงระดมเงินฝากประจำระยะพิเศษ และตั๋วแลกเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งจากปัญหาการเมือง วิกฤตทางการเงินในสหรัฐฯ รวมถึงการระดมเงินฝากของธนาคารยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2551 ซึ่งได้รับการขยายความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนออกไปอีก 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ส.ค. 2554 และในปีที่ 4 ความคุ้มครองจะเหลือ 50 ล้านบาท และในปีที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2555 เป็นต้นไป จะคุ้มครองเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อรายต่อธนาคาร โดยในช่วงเดือน พ.ย. 2551 ธนาคารหลายแห่งยังคงรณรงค์เงินฝากผ่านเงินฝากประจำระยะพิเศษ อาทิ เงินฝากประจำระยะ 5 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 เป็นต้น

สำหรับการประชุม กนง. ของไทย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2551 คาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง จากราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง อัตราดอกเบี้ยของประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกปรับตัวลดลง และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราลดลงเช่นเดียวกัน

แหล่งที่มา : ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น