xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ระบุศก.เกาหลีใต้ทรุด ทั่วโลกส่งเสียงเดียวลดดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ประเมินเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังเลวร้าย ยอดขายปลีก-ผลผลิต-ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง แม้ธนาคารกลางยืนยันว่าการฉีดงบเข้าระบบเพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้อนาคตใช้ทุนสำรองน้อยกว่าตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมทุกภูมิภาคกระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือวิกฤตการเงินที่ลุกลาม รวมถึงไทยที่พร้อมจะปรับลดลงอีก

บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด รายงานว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนประเทศเกาหลีใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังคงบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งยอดขายปลีกเดือนกันยายน ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 4.6% จากปีก่อน โดยมีการปรับลดการบริโภคทั้งสินค้าในหมวดคงทนและไม่คงทน ส่วนผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเดือนกันยายนขยายตัวลดลง 0.6 %นับเป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ แนวโน้มภาคการผลิตของเกาหลีใต้ยังคงชะลอตัว ส่วนความเชื่อมั่นผู้ผลิตเดือนพฤศจิกายน ปรับลดลงต่ำสุดตั้งแต่จัดทำสถิติอยู่ที่ 65 จาก 78 เมื่อเดือนก่อน โดยความผันผวนในตลาดการเงินและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ยอดขายและกำไรของบริษัทต่างๆ ในเกาหลีใต้ปรับลดลง

ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ เดือนตุลาคมของเกาหลีใต้ ปรับลดลงมากที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 2540 โดยลดลง 27.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 212.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการแทรกแซงของธนาคารกลางเพื่อป้องกันการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินวอน และการใช้ทุนสำรองเพื่อจัดหาดอลลาร์สหรัฐ มาช่วยเสริมสภาพคล่องให้ระบบธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อตึงตัว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเกาหลีใต้ยืนยันว่าการฉีดงบเข้าสู่ระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องในอนาคตจะใช้ทุนสำรองน้อยกว่าตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราการกู้เงินต่างประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายลง และดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้คาดว่าจะกลับมาเกินดุลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยยอดดุลบัญชีเดินสะพัดกันยายน อยู่ที่ 1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสิงหาคม ซึ่งขาดดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดุลการค้าและดุลบริการที่ขาดดุลลดลง อย่างไรก็ตาม การลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศได้ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลด Outlook ของเกาหลีใต้ลดลงจากStable เป็น Negative

ทั้งนี้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 4.0% ถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2549 พร้อมส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจในประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยจากผลการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ได้ช่วยลดความกังวลของนักลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยดัชนี Kospi Composite ปิดที่ 1,134.49 จุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากระดับ 1,113.06 จุดในสัปดาห์ก่อน แม้ว่าในระหว่างสัปดาห์หุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มส่งออกจะปรับตัวลดลง เนื่องจากความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องและการขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์

ส่วนค่าเงินวอนซึ่งอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจาก มีแรงเทขายของนักลงทุนในตลาดหุ้น จากความกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับการชะลอของเศรษฐกิจโลกก่อนการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ขณะเดียวกันต้นทุนการระดมทุนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดสว็อปในประเทศเพิ่มขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง

ด้านรายงานจาก บลจ. อยุธยา จำกัด เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจ ขณะนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงเป็นขยายตัวร้อยละ 2.2 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0

โดยในสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯส่งผลให้พรรคเดโมแครตคุมทั้งสภาสูงและสภาล่าง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะทำให้การผ่านนโยบายต่างๆที่ใช้ในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจทำได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามยังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในกันยายน โดยมีจำนวนผู้ตกงานเพิ่มขึ้น 240,000 คน

ขณะที่สถานการณ์ในยุโรป ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยคาดว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ในปีหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี จะไม่ขยายตัว ในขณะที่เศรษฐกิจของไอร์แลนด์และสเปนจะหดตัว สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซนตุลาคม ลดลงสู่ 45.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสิบปี ในขณะที่ยอดค้าปลีกกันยายน ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 จากปีก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 0.2 จากสิงหาคม และในช่วงปลายสัปดาห์ ธนาคารกลางยุโรปประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 สู่ร้อยละ 3.25 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.5 ในธันวาคมนี้

ด้านอังกฤษ ธนาคารกลางประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.50 ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 3.00 เนื่องมาจากราคาบ้านปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง รวมถึงภาคการผลิตและการจ้างงานที่อ่อนแอ ล่าสุดราคาบ้านของอังกฤษตุลาคมลดลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.5 ในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่น ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุว่า จะให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ห่วงว่าการลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจเป็นการบิดเบือนตลาดได้ โดยการที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงร้อยละ 0.20 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แทนที่จะปรับลดร้อยละ 0.25 ไม่ใช่เป็นการเปิดช่องให้สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่เป็นการปรับลดตามระดับความเหมาะสม

สำหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตุลาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงร้อยละ 1.2 จากกันยายน โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมัน และอาหารสดประเภทข้าว ผักและผลไม้ ปรับตัวลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วงระยะ 10 เดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มขาดดุลงบประมาณปี 2552 อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.0 นอกจากนี้ได้เตรียมขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการทั้งระบบในอัตราร้อยละ 6.0 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และหวังว่าภาคเอกชนจะมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนตามไปด้วย

ส่วนตลาดสินเชื่อ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความมั่นใจว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ โดยล่าสุด สินเชื่อกันยายน ขยายตัวร้อยละ 13.5 อย่างไรก็ตามยังแสดงความกังวลว่า ในอนาคตภาคธุรกิจอาจหันมากู้เงินในประเทศมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมในต่างประเทศสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินในประเทศลดลง โดยธปท. พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 แสดงถึงการชะลอตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น