xs
xsm
sm
md
lg

ทยอยสะสมหุ้นเมื่อราคาอ่อนตัว กลยุทธ์บริหารพอร์ตเอาชนะความผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่ประเทศในแถบใกล้เคียงอเมริกาเอง...ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาไปตามๆกัน ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากับคาดการณ์ต่างๆ นานาว่า เศรษฐกิจของโลกมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง

ในขณะที่นักลงทุนเองก็กังวลกับความไม่แน่นอนดังกล่าวเช่นกัน ทำให้ต่างก็พากันเก็บเงินไว้หรือไม่ก็นำเงินไปลงทุนในแหล่งลงทุนอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว...แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องยาก เพราะการวิเคราะคาดการณ์ในเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาวิเคราะกันอย่างละเอียดและต่อเนื่อง...วันนี้ "ผู้จัดการกองทุนรวม" จะไปดูมุมมองที่น่าสนใจจากผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด สุทธินี สิมะกุลธร ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและของโลกว่าจะเป็นอย่างไร และจะส่งผลต่อการลงทุนต่อไปอย่างไรบ้าง
สุทธินี สิมะกุลธร
สุทธินี สิมะกุลธร ระบุว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศออกมาในเดือนมีนาคม ได้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีทิศทางเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยตัวเลขในตลาดแรงงานมีทิศทางลดลงเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-Farm Payrolls) ในเดือนมีนาคมลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 5.1 ในเดือนมีนาคม ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการชะลอตัวลงเช่นกัน

ทั้งนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นจากดัชนี PMI-Manufacturing (ภาคอุตสาหกรรม) และ PMI Non-Manufacturing (ภาคบริการ) ในเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ที่ 48.6 และ 49.6 ตามลําดับ โดยตัวเลขทั้งสองเป็นตัวเลขที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง เช่น ค่าใช่จ่ายที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง Construction spending ยอดคําสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดค้าปลีก

และจากข้อมูลทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านการบริการ และด้านการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชน ทําให้เห็นถึงการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และได้นําไปสู่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีมาอยู่ที่ 64.5 จึงทำให้เมื่อประมาณวันที่ 19 เมษายน 2551 นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของสภาคองเกรส ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ได้ระบุว่ายังไม่มีสัญญาณแน่ชัดว่าภาวะเลวร้ายที่สุดของวิกฤตสินเชื่อจะยุติลงได้

จากความเห็นของประธาน Fed ทําให้ตลาดการลงทุนต่างพาคาดกันว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Fund Rate ลงในการประชุมเมื่อวันที่ 29-30 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ คือ Fed ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.00% เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยในผลการประชุมดังกล่าวระบุว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการรักษาสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง จะช่วยผลักดันการขยายตัวในอนาคต แต่ แรงกดดันในเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก

ในขณะเดียวกัน นายอลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการ Fed ก็ออกมาให้ความเห็นว่า ผลดีจากค่าแรงที่ถูกของประเทศจีน รวมทั้ง Emerging market ได้หมดไปจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทําให้ไม่ช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงระยะเวลา 2 – 3 เดือนต่อจากนี้ไป Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ต่อไปอีกในระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการรักษาระดับ Inflation ที่เกิดขึ้น และทำการติดตามผลการออกมาตรการต่าง ๆ อีกด้วย ส่วนในเดือนเมษายนนั้น ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประเทศสหรัฐอเมริกายังคงแย่อยู่ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาคบริการเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นทำให้ตลาดการลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯจะไม่ถดถอยอย่างรุนแรง โดยภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 90,000 ราย จากที่ลดลง 7,000 ราย ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นภาคที่ทําให้การจ้างงานไม่ลดลงมากในเดือนเมษายน ขณะเดียวกันดัชนี PMI ของภาคบริการในเดือนเมษายนปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 49.6% ในเดือนมีนาคมเป็น 52% ซึ่งสูงกว่า 50% แสดงถึงให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคบริการที่สอดคล้องกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าภาคบริการจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถชดเชยการหดตัวของภาคก่อสร้างที่อยู่อาศัย และเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ทรุดตัวลงมากในไตรมาส 2/2551 ทำให้นักเศรษฐศาสตรพากันคาดว่า การจ้างงานที่ลดลงไม่มากเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า Recession จะไม่รุนแรง

สุทธินี
กล่าวต่อว่า สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวของสหรัฐฯ ได้ส่งไปยังประเทศต่างๆ ส่งผลให้ IMF (International Monetary Fund) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ลง จากก่อนหน้านี้ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.1% เป็น 3.7% โดยนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่ยังระบุต่อไปอีกว่ามีโอกาสถึง 25% ที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก และอาจจะขยายตัวน้อยกว่า 3% ในปี 2008 และ 2009

สําหรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวอยู่ที่ 0.5% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.5% ส่วนสหภาพยุโรปจะขยายตัว 1.3% ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ 1.6% ขณะที่ในส่วนของภูมิภาคเอเชียก็มีการปรับลดอัตราการขยายตัวเช่นกัน โดยประเทศญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.4% ในปีนี้ ลดลงจาก 1.5% ที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนประเทศจีนจะขยายตัว 9.3% ในปีนี้ ลดลงจาก 10.0% ที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ การปรับประมาณการในส่วนของเอเชียของ IMF สอดคล่องกับการคาดการณ์ของ ADB หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย โดย ADB ได้ระบุว่าปีนี้ประเทศกําลังพัฒนาในเอเชียมีการเจริญเติบโต และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มขยายตัว 7.6% ขณะที่ปี 2552 จะขยายตัว 7.8% สําหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น จะชะลอตัวลงสู่ ระดับ 7.6% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อน หน้าที่ 8.2% ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจะอยู่ที่ระดับ 5.0%

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุน ได้แนะนำการลงทุนในปีนี้ว่า เนื่องจากตลาดหุ้นจะตอบสนองอย่างรวดเร็วกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาอย่างทันท่วงที ดังนั้นเมื่อดัชนีตัวเลขด้านภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นจึงส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นในปีนี้ยังคงมีความเปราะปรางกับข่าวต่างๆ ที่จะประกาศออกมาถ้านอกเหนือการคาดการณ์ ดังนั้น การลงทุนยังคงมีความผันผวนสูง สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดได้ ตลาดหุ้นยังคงมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาวที่มากกว่า 1 ปีขึ้นไป

"การเริ่มเข้าทยอยสะสมเมื่อราคาอ่อนตัวลง (Dollar cost averaging) เป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุนสำหรับปีนี้" สุทธินี แนะนำ
กำลังโหลดความคิดเห็น