xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีย้ำพอร์ตกองคอมมอดิตี้แกร่ง กระจายการลงทุนเหมาะสภาพคล่องสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูโอบี ย้ำกลยุทธ์ กองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท คอมโมดิตี้ กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์เหมาะสมแล้ว เหตุสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นตัวแทนของสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาด และมีสภาพคล่องสูง ล่าสุด เปิดขายกองทุนเปิดยูโอบี มันนี่ ฟันด์ 2 เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของภาครัฐบาล และสถาบันการเงิน ไอพีโอตั้งแต่วันที่ 10 – 12 พ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท คอมโมดิตี้ (UOBSC) ซึ่งเป็นกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่เน้นลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) นับว่ามีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมแล้ว โดยมีกองทุน DB Platinum Commodity Euro ซึ่งเป็นกองทุนแม่เป็นต้นแบบในการบริหาร ทำให้ไม่ได้มีการ Take View แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นหรือไม่ปรับขึ้นก็ตาม เนื่องจากโมเดลจะมีการปรับสัดส่วนในสินทรัพยที่ลงทุนในแต่ละช่วงอยู่แล้ว

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยมีการกระจายความเสี่ยงไปยังสินค้าโภคภัณฑ์ 12 ชนิด ซึ่งเป็นตัวแทน 4 กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันดิบ WTI และก๊าซธรรมชาติจากกลุ่มพลังงาน ทองคำและเงินจากกลุ่มโลหะมีค่า อลูมิเนียม ทองแดง สังกะสี นิกเคิล และตะกั่วจากกลุ่มโลหะอุตสาหกรรม ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองจากกลุ่มสินค้าเกษตร และใช้วิธี Mean Reversion ในการกำหนดน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละตัว

นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่ลงทุนในปัจจุบันเป็นสินทรัพย์มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง โดยกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ในปัจจุบันมีประมาณ 20 – 30 ตัว แต่ส่วนใหญ่กลับมีสภาพคล่องน้อย โดยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทุนได้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากยุโรปได้เปลี่ยนกฎหมายการลงทุน โดยมองว่ายังมีการกระจายความเสี่ยงน้อยอยู่ ส่งผลให้กองทุนแม่ติดขัดปัญหา และจำเป็นต้องมีการกระจายลงทุนในสินทรัพย์มากขึ้น

สำหรับกองทุน UOBSC จะเน้นการลงทุนในหน่วยลงทุนประเภท R1C ของกองทุน DB Platinum Commodity Euro ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) ซึ่งจัดตั้งและบริหารจัดการโดย DB Platinum Advisors ประเทศลักเซมเบิร์ก บริษัทจัดการจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน DB Platinum Commodity Euro โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ส่วนดัชนี DB Commodity EUR (“ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์”) ซึ่งประกอบด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ 12 ชนิด ได้แก่ 1. น้ำมันดิบ WTI 2. ก๊าซธรรมชาติ 3. อะลูมิเนียม 4. ทองแดง 5. สังกะสี 6. นิกเคิล 7. ตะกั่ว 8. ทองคำ 9. เงิน 10. ข้าวสาลี 11. ข้าวโพด 12. ถั่วเหลือง

โดยดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์จะแสดงค่าในสกุลเงินยูโร และมีการคำนวณทุกวันโดยธนาคารดอยช์แบงก์เอจี สาขาลอนดอน โดยใช้ราคาปิดรายวันของสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนี ดัชนีจะปรับน้ำหนักการลงทุนโดยใช้วิธี Mean Reversion ซึ่งน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละตัวจะเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับราคาเฉลี่ยระยะสั้นเทียบกับราคาเฉลี่ยระยะยาวของสินค้านั้นๆ ถ้าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 1 ปี ของราคาตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนี มากกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 5 ปี ถือว่าสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนีชนิดนั้นมีราคาแพง และน้ำหนักการลงทุนของสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนีชนิดนั้นจะถูกปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ถ้าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 1 ปี ของราคาตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 5 ปี ถือว่าสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนีชนิดนั้นมีราคาถูก และน้ำหนักการลงทุนของสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนีชนิดนั้นจะถูกปรับเพิ่มขึ้น น้ำหนักการลงทุนในแต่ละองค์ประกอบของดัชนีจะต้องมีค่ามากกว่าศูนย์เสมอ องค์ประกอบของดัชนีอาจถูกปรับเปลี่ยน ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ของดัชนีหรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ณ วันปรับน้ำหนักการลงทุน ดัชนีมีข้อจำกัดให้สินค้าโภคภัณฑ์ 1 ชนิดมีน้ำหนักการลงทุนได้ไม่เกิน 35% ของพอร์ตการลงทุน สินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นมีน้ำหนักการลงทุนได้ไม่เกิน 20% ของพอร์ตการลงทุน

นอกจากนี้ บลจ.ยูโอบี (ไทย) เตรียมเปิดเสนอขายกองทุนเปิดยูโอบี มันนี่ ฟันด์ 2 (UOBMF2) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของภาครัฐบาล และสถาบันการเงิน โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2551 และมีมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท

สำหรับกองทุนเปิดยูโอบี มันนี่ ฟันด์ 2 มุ่งลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อลดความผันผวนของการลงทุนจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้จะไม่ลงทุนหรือมีไว้ในในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives)ตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น