xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการแก้วิกฤตการเงินยาหลายขนาน...เห็นผลหรือยัง?/

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดูเหมือนว่าช่วงนี้ตลาดเงิน-ตลาดทุน บ้านเราจะอ่อนไหวไปตามกระเเสข่าวจากทั้งในประเทศเเละต่างประเทศ ทำให้ทั้ง 2 ตลาดได้รับผลกระทบเเละมีความผันผวนตลอดเวลา จนรัฐบาลทั่วโลกต้องหามาตรการออกมารองรับกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อเยียวยาสถานการณ์เเละเเก้ปัญหาไม่ให้รุกลามจนกลายเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตามมาตรการที่รัฐบาลช่วยเยียวยานั้น เริ่มจะเห็นผลบ้างเเล้ว

อาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการลงทุนตราสารหนี้ (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ กล่าวถึงตลาดตราสารหนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันว่า ด้านสภาพคล่อง (Liquidity) ของตลาดปรับตัวดีขึ้นมาก สังเกตจากอัตรากู้ยืมแบบ 1 วัน (Overnight rate) ซึ่งเคยปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 2.1% ในรอบ 2-3 เดือนก่อนหน้า ไปในระดับ 6.4375-6.875%ในช่วงวิกฤต Lehman Brothers ในปัจจุบัน Overnight rateได้ปรับลดต่ำลงมาอยู่ในระดับ 1.2% นอกจากนี้การคลายความกังวลดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ Credit Default Swap (CDS) ของรัฐบาลและสถาบันการเงินคลี่คลายลง และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก Rebound ในระยะสั้น

จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของมาโดยตลอดของบลจ.เอสายเอฟ เกี่ยวกับมาตราการที่ธนาคารกลาง องค์กรนานาชาติ และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ออกมาให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของระบบการเงินของประเทศต่างๆ ในขณะนี้ มาตราการต่างๆที่ออกมานั้นส่งผลให้สถานการณ์ตลาดการเงินคลี่คลายมาเป็นลำดับ สำหรับมาตรการของแต่ละประเทศสามารถสรุปได้ดังนี้

1.สหรัฐอเมริกา ทางรัฐสภาได้ทำการอนุมัติงบประมาณจำนวน 700,000 ล้านดอลล่าร์เพื่อช่วยเหลือวิกฤตการเงินซึ่งวันที่ 14 ตุลาคม 2551ที่ผ่านมา สถาบันประกันเงินฝากธนาคารกลาง และกระทรวงการคลังได้มีการประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมดังนี้ 1.กระทรวงการคลังเสนอแผนการเพิ่มทุนแบบสมัครใจ (Voluntary Capital Purchase Program) ให้แก่สถาบันการเงินโดยอยู่ในรูปการออกหุ้นกู้บุริมสิทธิที่จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 สำหรับ 5 ปีแรก และปีต่อๆไปร้อยละ 9 สำหรับปีถัดไป โดยที่สถาบันการเงินจะมีสิทธิในการซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวได้ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป 2.มีการค้ำประกันหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) ของสถาบันการเงินที่สถาบันประกันเงินฝาก (FDIC) ค้ำประกันเป็นการชั่วคราว

โดยกระทรวงการคลังประกาศว่ามีสถาบันการเงินหลักที่เข้าร่วมการเพิ่มทุนและการค้ำประกันเงินกู้ของ FDIC แล้ว 9 แห่งแต่มิได้ระบุรายชื่อ ซึ่งข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องระบุว่าสถาบันการเงินหลักทั้ง 9 แห่งน่าจะได้แก่ Citigroup, Wells Fargo, JP Morgan, Bank of America, Merrill Lynch, Morgan Stanley, Goldman Sachs, New York Mellon, State Street รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 125,000 ล้านดอลล่าร์ ขณะที่ธนาคารกลางได้เข้ามาจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยการระดมทุนในตลาดตั๋วเงิน (Commercial Paper) ให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2551
นอกจากนี้กระทรวงการคลังประกาศเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ว่าจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพิ่มทุนธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 125,000 ล้านดอลล่าร์ ภายหลังจากประกาศการเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 9 แห่งวงเงิน 125,000 ล้านดอลล่าร์เช่นกัน (จากวงเงินแก้วิกฤตทั้งหมดจำนวน 700,000 ล้านดอลล่าร์) ทั้งนี้สภาสหรัฐให้เวลากระทรวงการคลังภายในกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 เพื่อประกาศความชัดเจนและการกำหนดราคาในการซื้อหนี้เสียออกจากงบธนาคาร

2.ประเทศอังกฤษธนาคารขนาดใหญ่ 8 แห่ของอังกฤษจะมีการเพิ่มทุน 25,000 ล้านปอนด์ซึ่งจะเป็นส่วนของทุนสำรองขั้นที่ 1 (Tier 1 Capital) โดยจะมาจากการเพิ่มทุนของรัฐหรือระดมทุนจากตลาดการเงินก็ได้ โดยธนาคารที่มีการเพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว จะสามารถกู้โดยมีการค้ำประกันจากรัฐบาลอังกฤษในระยะเวลา 3 ปี คาดการณ์วงเงินค้ำประกันประมาณ 250,000 ล้านปอนด์

ส่วนธนาคารที่อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลให้ความยินยอมช่วยเหลือในการเพิ่มทุนได้แก่ Abbey National, Barclays Bank, HBOS, HSBC Bank, Lloyds TSB Bank, Nationwide Building Society, Royal Bank of Scotland, Standard Charter Bank ทั้งนี้ธนาคารที่ได้มีการประกาศว่า สามารถเพิ่มทุนจากเงินทุนในกลุ่มหรือจากตลาดการเงินได้แก่ Barclays Bank, HSBC Bank, Standard Charter Bank

3.ประเทศในกลุ่มยุโรป สำหรับรัฐบาลในกลุ่มยุโรปได้แก่ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย ได้ทำการค้ำประกันการกู้ยืมของธนาคารและเพิ่มทุนเป็นวงเงินทั้งหมด 1.8 ล้านล้านดอลล่าร์ โดยธนาคารกลางยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่นรวมกับธนาคารกลางสหรัฐเสริมสภาพคล่องเงินสกุลดอลล่าร์โดยไม่จำกัดจำนวน ส่วนรัฐบาลเยอรมันมีแผนค้ำประกันหนี้ของธนาคารพาณิชย์จำนวน 400,000 ล้านบาทและวงเงินเพิ่มทุนในธนาคารจำนวน 100,000 ล้านยูโร

ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอการค้ำประกันหนี้ของธนาคารพาณิชย์จำนวน 320,000 ล้านยูโรและวงเงินเพิ่มทุนในธนาคารจำนวน 40,000 ล้านยูโร ส่วนรัฐบาลสเปนเสนอวงเงินจำนวน 100,000 ล้านเหรียญเพื่อแก้ปัญหาการเงิน ขณะเดียวกันรัฐบาลอิตาลีไม่ระบุวงเงินแต่จะสนับสนุนทั้งจำนวนเท่าทีมีความจำเป็นในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน เเละรัฐบาลออสเตรียเสนอการค้ำประกันหนี้ของธนาคารพาณิชย์จำนวน 85,000 ล้านยูโรและวงเงินเพิ่มทุนในธนาคารจำนวน 15,000 ล้านยูโร

4.ประเทศญี่ปุ่นมาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นดูเเลคือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ยุโรป อังกฤษ สหรัฐเสริมสภาพคล่องเงินสกุลดอลล่าร์โดยไม่จำกัดจำนวนเเละรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจัดตั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน

5.ประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลประเทศออสเตรเลียประกาศค้ำประกันเงินฝากและการกู้ยืมของธนาคารในออสเตรเลียเป็นระยะ เวลา 3 ปี แต่ไม่รวมถึง Structured Debt (ซึ่งเป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนอิงกับราคาหรือดัชนีต่างๆ) เนื่องจาก เป็นตราสารที่ผู้ลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง

6. ประเทศเกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีได้มีการเพิ่มสภาพคล่องในระบบจำนวน 15,000 ล้านดอลล่าร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยวันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลเกาหลีได้ทำการประกาศค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เกาหลีวงเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 1.4 เท่า ของหนี้ต่างประเทศของแต่ละธนาคารที่จะครบกำหนดภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2551 สำหรับการกู้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2551 ถึง 30 มิถุนายน 2552 ที่มีระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการกู้ยืมเงินดอลลาร์ในตลาดต่างประเทศ

มีการเปิดประมูลเงินดอลล่าร์ให้แก่ธนาคารเกาหลีจำนวน 30,000 ล้านดอลล่าร์ในตลาดสวอปอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Swap Market) เพิ่มช่วยเสริมสภาพคล่อง โดย รัฐบาลประกาศว่าจะเข้ามาเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและมิใช่ธนาคารหากจำเป็น เเละ รัฐบาลมีแผนจะเพิ่มทุนธนาคารของรัฐ Industrial Bank of Korea จำนวน 739 ล้านดอลล่าร์เพื่อช่วยเหลือการปล่อยกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ขาดสภาพคล่องจะมีการพิจารณาการคุ้มครองเงินฝากต่อไปในอนาคต

7.ประเทศในกลุ่มเอเชีย มีการประชุมวันที่ 24 ตุลาคม 2551 โดย 10 ประเทศในกลุ่มอาเชียนรวมทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพื่อจัดตั้งกองทุนจำนวน 80,000 ล้านดอลล่าร์สำหรับตลาด Currency Swap เพื่อเสริมสภาพคล่องในการกู้ยืมเงินดอลล่าร์สหรัฐ ไทยเสนอเพิ่มวงเงินเป็นจำนวน 150,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ผู้นำประเทศต่างๆยังคงยืนยันว่าเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง แต่จะติดตามวิกฤตอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะมีมาตรการร่วมกันในการแก้ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น