xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางแดนกิมจิ ศก.ยังแกร่งไม่หวั่นวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงที่ผ่านมาหนึ่งในการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก คือ "การลงทุนในต่างประเทศ" โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่หลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พากันประกาศขายหน่วยลงทุนกันยกใหญ่ แต่ปัจจุบันหลังจากที่ปัญหาวิกฤตการเงินโลกเริ่มลุกลามจากสหรัฐฯ มายังยุโรปและแพร่กระจายมาถึงกลุ่มทวีปเอเชีย ทำให้การช่องทางการลงทุนดังกล่าวเริ่มซบเซา

ขณะเดียวกันสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยังระดมออกข่าวและบทความเกี่ยวกับการที่ค่าเงินวอนของประเทศเกาหลีใต้อ่อนค่าลงอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลว่าประเทศเกาหลีใต้อาจจะเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและอาจจะกระทบต่อการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุด บลจ.กสิกรไทย ได้ออกรายงานที่สรุปภาพรวมสถานการณ์การลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งระบุว่าสาเหตุที่ค่าเงินวอนของประเทศเกาหลีใต้อ่อนค่าลงในปัจจุบันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ประกอบไปด้วย

- ความกังวลด้านการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลงของประเทศเกาหลีใต้ (Current Account Deficit and Slow Economic Growth Outlook) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกของเกาหลีใต้ที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากการที่คู่ค้าหลัก อาทิ กลุ่มประเทศยูโรและสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นกดดันภาคการนำเข้าของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มประเทศเอเชีย และกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องรวมเป็นจำนวนประมาณ 25,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีแนวโน้มชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 จากการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 5 ในปี 2550 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทั้งในภาคส่งออก ภาคการผลิตและภาคการบริโภคภายในประเทศ ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

- ความกังวลจากการที่ต่างชาติขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนและนำเงินออกนอกประเทศ (Capital Outflow) โดยในปี 2551 เกาหลีใต้มีเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดทุนประมาณ 25,000 - 30,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก โดยการไหลออกของเงินลงทุนเป็นไปตามการปรับตัวของการเคลื่อนไหวในตลาดทุนทั่วโลก

- ความกังวลด้านสภาพคล่องระยะสั้นในสกุลเงินดอลลาร์ของธุรกิจต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้ (Dollar Liquidity Crunch) ทั้งนี้ธุรกิจต่างๆ ในเกาหลีใต้มีความต้องการสภาพคล่องในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากลักษณะการทำธุรกิจข้ามชาติ ทั้งภาคการส่งออก ภาคธุรกิจธนาคารและการเงิน อุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ ส่งผลต่อมูลค่า Short-term External Debts ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 170,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับระดับของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ 240,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ

"เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในสถาบันการเงินต่างๆ ภายในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องระยะสั้นในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ของเกาหลีใต้ประสบความยากลำบาก หรือมีภาระทางค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย (Interest Cost) ที่เพิ่มขึ้นในการระดมทุนสภาพคล่องในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ"
 
ทั้งนี้การที่กลุ่มธุรกิจต่างๆ มี Short-term External Debts อยู่ในระดับสูงเกิดจากการที่ก่อนช่วงวิกฤตการด้านการเงิน การระดมทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการระดมเงินทุนในเกาหลีใต้เอง ดังนั้นหลายๆ กลุ่มธุรกิจมีการระดมทุนเพิ่มในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จนมีระดับ Short-term External Debts อยู่ที่ระดับปัจจุบันอย่างไรก็ดี หากค่าใช้จ่ายด้านอัตราดอกเบี้ยในการระดมทุนนอกประเทศสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจต่างๆ ก็สามารถระดมทุนภายในประเทศแทนได้ผ่านช่องทางการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศหรือการออกหุ้นกู้ในรูปสกุลเงินวอน

ขณะที่ยังมีความกังวลจากกรณีที่ภาคการเงินและธนาคารต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้มีสัดส่วนการปล่อยกู้ที่สูงกว่าสัดส่วนเงินฝาก (High Loan-to-Deposit Ratio Effect)

เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินในเกาหลีใต้เน้นการระดมเงินผ่านช่องทาง Wholesale Funding (การระดมเงินทุนผ่านตลาดทุน) ซึ่งต่างจากลักษณะการระดมเงินทุนของธนาคารในประเทศไทยที่พึ่งพิงการระดมเงินทุนผ่านช่องทางเงินฝาก (Retail Funding) เป็นหลัก ดังนั้นในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกจะทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินในเกาหลีใต้อาจจะประสบปัญหาในการการระดมเงินผ่านช่องทาง Wholesale Funding ทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในระยะสั้นได้

**อย่างไรก็ดี ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ สามารถออกผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝาก อาทิ Certificate of Deposit (CD) เพื่อเป็นการระดมทุนเพิ่มเติมในกรณีที่ช่องทางด้าน Wholesale Funding มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น รวมทั้งการที่ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีใต้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือในยามวิกฤตจึงไม่น่าจะทำให้สถาบันการเงินและธนาคารต่างๆ ในเกาหลีใต้ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องได้

"การอ่อนค่าอย่างมากของเงินเกาหลีวอนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความกังวลในช่วงสั้นอันเป็นปัจจัยจากความผันผวนของสภาพตลาดเงินโลกและปัจจัยจากลักษณะการระดมทุนของบริษัทต่างๆ ของประเทศเกาหลีใต้ที่พึ่งพิงเงินทุนนอกประเทศจำนวนมาก ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเทขายเงินวอนค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งปัจจุบันยังเติบโตอยู่ที่อัตราประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี มีฐานะทางด้านเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีมากถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินที่สูง ทำให้เชื่อว่าไม่น่าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอันรุนแรงในประเทศเกาหลีใต้ได้"**

ที่มา: บลจ.กสิกรไทย

เอกสารนี้จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลเท่านั้น ข้อมูลในเอกสารนี้เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำหรือความเห็น และ ไม่ถือเป็นการแทนคำแนะนำในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ข้อมูลในเอกสารนี้ไม่ใช้สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ใดๆ หรือ การเข้าร่วมทางการค้าใดๆ บริษัทได้จัดทำและรวบรวมขึ้นด้วยความสุจริต และพยายามจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่บริษัทและผู้บริหาร รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ของบริษัทมิอาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวได้ ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากข้อมูลนั้นเอง หรืออาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะใช้ข้อมูลที่ปรากฏอยู่นี้ เพื่อการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ลงทุนควรใช้ด้วยความรอบคอบ หรือใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลที่ให้ไว้อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ผู้อ่านอาจได้รับเนื่องจากการใช้เอกสารนี้หรือตัดสินใจจากเนื้อหาในเอกสารนี้ไม่สามารถเรียกร้องได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อนึ่ง การลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยง มูลค่าการลงทุนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ และผลการดำเนินงานในอดีตไม่เป็นสิ่งที่รับรองผลการดำเนินงานในอนาคตและไม่ถือเป็นการรับรองการดำเนินงานในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น