xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยดอยซ์ แบงก์ เอฟเอ็กซ์ฯ แชมป์ผลตอบแทนเอฟไอเอฟเดือนก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ช่องทางการลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุน ทำให้โยกเงินมาลงทุนในประเทศแทนที่ความเสี่ยงต่ำกว่า...แต่ในบางมุมมองของนักลงทุน อาจมองว่าในช่วงที่เกิดปัญหาต่างๆ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีราคาถูก เพื่อรอระยะเวลาให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายลง แล้วทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม จากตรงนี้นักลงทุน อาจมองถึงผลตอบแทนที่จะตามมา เพราะเมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นเสี่ยงตั้งแต่วันนี้ เพื่อผลตอบแทนที่ดีในวันหน้า...

วันนี้ คอลัมน์ “Best of Fund” ขอพามาดูผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) สิ้นสุด ณ วันที่ 31 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา...ไปดูกันว่ามีกองทุนใดน่าสนใจบ้าง เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการลงทุนต่อไป

สำหรับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือกองทุนกรุงไทยดอยซ์ แบงก์ เอฟเอ็กซ์ คุ้มครองเงินต้น ภายใต้การบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด โดยกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 852.61ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 7.91% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 34.72%อันดับ 2 กองทุนเปิดฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ ของ บลจ.ฟินันซ่า โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1,231.82 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3.40% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 30.21%

อันดับ 3 กองทุนเปิดบีที FIF โกลด์ ลิงค์ ฟันด์ 3 ของ บลจ.บีที โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 763.44 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3.39% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 30.20% อันดับ 4 เอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซีเล็ค ฟันด์ ของ บลจ.เอ็มเอฟซี โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 993.87 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.97% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.78%

อันดับ 5 กองทุนเปิดแมกซ์ตราสารหนี้12 ของ บลจ.นครหลวงไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 275.62 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.80% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.61% อันดับ 6 กองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ ฟันด์ ของ บลจ.ทหารไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1,205.21 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.63% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.44%

อันดับ 7 กองทุนเปิดธนชาตโกลบอล บอนด์ ฟันด์ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ธนชาต โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท มีผลตอบแทน ย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.46% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.27% อันดับ 8 กองทุนเปิดแมกซ์ตราสารหนี้1 ของ บลจ.นครหลวงไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 125.76 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.44% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.25%

อันดับ 9 เอ็มเอฟซี โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.เอ็มเอฟซี โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 422.87 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.34% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.15% และอันดับ 10 กองทุนเปิดแมกซ์ตราสารหนี้3/1 ของ บลจ.นครหลวงไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 423.04 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.31% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.12%

ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้อ้างอิง คือ MSCI AC World CR USD ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ -26.81%

เปิดกลยุทธ์กองทุนอันดับ1
สำหรับ กองทุนรวมกรุงไทยดอยซ์แบงก์ เอฟ เอ็กซ์ คุ้มครองเงินต้น โดยเป็นกองทุนปิด ประเภทกองทุนรวมหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น ขนาดกองทุน 840 ล้านบาท และเป็นโครงการที่มีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม

ขณะเดียวกัน กองทุนมีนโยบายการลงทุน เพื่อระดมเงินลงทุนจากผู้ลงทุนประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไป และจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้เงื่อนไขการเสนอขายที่กำหนด ในการนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ลงทุน โดยได้รับการคุ้มครองเงินต้นภายใต้นโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้

ขณะที่กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน DB Platinum II โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีในต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ กองทุนดังกล่าว เป็นกองทุนคุ้มครองเงินต้น ที่จัดตั้งและจัดการโดย Deutsche Bank Group ซึ่งจดทะเบียนในประเทศลักเซมเบิร์ก นอกจากการลงทุนในต่างประเทศในกองทุนหลักแล้ว กองทุนรวมอาจจะลงทุนบางส่วนในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของกองทุนรวมในประเทศไทย เช่นสำรองเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม ตลอดจนกองทุนรวมอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ตามที่ทางการกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ

อนึ่ง กองทุนรวมจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative) และตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structure Note)ในกรณีที่บริษัทจัดการเห็นว่า การลงทุนในต่างประเทศและ/หรือการลงทุนในกองทุน DB Platinum II ไม่เหมาะสมอีกต่อไป บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิที่จะยกเลิกโครงการ หรือนำเงินลงทุนของกองทุนรวมไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศอื่นที่มีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนรวม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน

นอกจากนี้ บริษัทจัดการจะทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับกองทุนรวมตลอดระยะเวลาของโครงการ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับเงินต้นคืนตามเงื่อนไขจำนวนเงินที่คุ้มครองโดยไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อนึ่งในการทำสัญญาเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามที่กฎระเบียบที่ทางการกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ

ส่วนนโยบายการจ่ายเงินปันผล โครงการมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ในการโดยในการจ่ายแต่ละครั้งจะจ่ายจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง (Net Realized Gain) ในอัตราไม่เกินร้อยละ 100 และบริษัทจัดการอาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมในงวดก่อน ๆ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิที่จะพิจารณางดจ่ายเงินปันผล หรือจ่ายเงินปันผลเป็นอย่างอื่น หากบริษัทจัดการเห็นว่า เงินปันผลต่อหน่วยที่จะจ่ายในงวดนั้นมีมูลค่าต่ำเกินไปไม่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น มีผลจากการจ่ายเงินปันผลในงวดใดทำให้มีผลกระทบกับมูลค่าหน่วยลงทุนหลังการจ่ายเงินปันผลงวดนั้นอย่างไม่เหมาะสม และกระแสเงินสดที่จะจ่ายเงินปันผลในงวดนั้นไม่เพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น