xs
xsm
sm
md
lg

ฟินันซ่าเข็นกองคอมมอดิตี้ คว้าผลตอบแทนกองเอฟไอเอฟสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะการลงทุนค่อนข้างผันผวนเป็นอย่างมาก นักลงทุนคาดเดาทิศทางการลงทุนกันอย่างยากลำบาก และปัญหาเศรษฐกิจดูจะรุมเร้ากันอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกประสบปัญหาดัชนีปรับลดลงต่ำอย่างต่อเนื่อง

แต่ในวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น กลับมีสินทรัพย์บางประเภทที่มีความโดดเด่นขึ้นมา และ มีแนวโน้มเจริญเติบโตได้ดี คือตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ทองคำ และที่ขาดเสียไม่ได้คือการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั่นเอง โดยหลายฝ่ายมองว่าสินค้าโภคภัณฑ์จะสามารถเจริญเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากจำนวนประชากรของโลกเพิ่มขึ่นทุกปี และในแต่ละปีประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านคน และภายใน 25 ปีข้างหน้าจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านคน

จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากการที่ประชากรโลกมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยเมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็หันมาบริโภคเนื้อสัตว์แทน ทำให้การบริโภคผลิตผลการเกษตรโดยอ้อมปรับเพิ่มขึ้นไปอีก และยังมีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งอย่างราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป กลายเป็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และความต้องการทางด้านผลผลิตขาดแคลน

โดยในแง่ของพื้นที่การเกษตรสามารถขยายตัวได้ในบางประเทศ บางทวีปไม่มาก อาทิ บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีพื้นที่รกร้างที่สามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกได้บ้าง แต่การที่ภาคอุตสาหกรรมเจริญเติบโตมากขึ้น อาทิ จีน และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทำให้พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนต้องกลายเป็นชุมชนเมืองแทน ดั้งนั้น พื้นที่การเกษตรเลยไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มการเพาะปลูกและผลิตผลการเกษตรไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

ขณะเดียวกัน การที่เกิดภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำไม่พอเหมาะกับการเกษตร และผลิตผลการเกษตรลดลง รวมทั้งอาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอย่างการเกิดอุทกภัยในจีน และความแห้งแล้งในทวีปยุโรป ซึ่งทำให้พื้นที่เพาะปลูกน้อยลงด้วย

วันนี้ คอลัมน์ “Best of Fund” ขอพามาดูผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 ว่ามีกองทุนใดน่าสนใจบ้าง เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการลงทุนต่อไป พร้อมกับเปิดมุมมองการลงทุนของผู้บริหารกองทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนมาเป็นอันดับ 1 ด้วย

สำหรับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือกองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ ภายใต้การบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 20.80% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 36.72%

อันดับ 2 กองทุนเปิดธนชาตโกลบอล บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.ธนชาต ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 6.15% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 22.07% อันดับ 3 กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย โกลเด้น สตาร์ ลิ้งค์ ของ บลจ.ไอเอ็นจี (ไทย) ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.32% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.24%

อันดับ 4 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล แนชเชอรัล รีซอร์สฟันด์ ของ บลจ.เอ็มเอฟซี ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.21% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.13% อันดับ 5 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 6M6 ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.14% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.06%

อันดับ 6 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.เอ็มเอฟซี ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.78% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 18.70% อันดับ 7 กองทุนเปิดเคแอสเซ็ท โกลบัล ฟิกซ์อินคัม 3 ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.04% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 17.96%

อันดับ 8 กองทุนเปิดเค โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต บอนด์ ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.87% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 17.79% อันดับ 9 กองทุนเปิดกรุงไทยดอยซ์แบงก์ เอฟเอ็กซ์ คุ้มครองเงินต้น ของ บลจ.กรุงไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.66% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 17.58%

และอันดับ 10 กองทุนเปิดแมกซ์ตราสารหนี้ ภายใต้การบริหารของ บลจ.นครหลวงไทย ให้ผลตอบแทน ย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.63% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 17.55%

เปิดมุมมองกองทุนอันดับ 1
ธีระ ภู่ตระกูล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด เล่าให้ฟังว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นมา เนื่องจากมีหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาทองคำ โดยคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีแนวโน้มไปอีก 10-15 ปี เพราะว่าในแต่ละปีประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านคน และภายใน 25 ปีข้างหน้าจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ในการเพาะปลูกมีปริมาณที่จำกัด และยังมีการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรไปใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทดแทนอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2541 Rici Rogers Index ได้ระบุว่าสินค้าโภคภัณฑ์มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 12-13% ต่อปีมาโดยตลอด หากมีเงิน 100 บาท ควรนำไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ประมาณ 10-15% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

สำหรับกองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Feeder Fund) ที่ในต่างประเทศ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ไม่กำหนดอายุโครงการ โดยจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนในต่างประเทศเพียงกองทุนเดียวคือ กองทุน UBS (LUX) Structured Sicav – Rogers International Commodity Index? ที่มีนโยบายหลักในการลงทุนในตราสารทุนที่มีการดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ เพื่อสร้างผลการดำเนินงานของกองทุนให้มีมูลค่าใกล้เคียงหรือเช่นเดียวกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ Rogers International Commodity Index? โดยตรง โดยกองทุนดังกล่าวจดทะเบียนในประเทศลักเซมเบอร์ก และบริหารจัดการโดย UBS Global Asset Management

นอกจากการลงทุนในต่างประเทศในกองทุนหลัก บริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุน บริษัทจัดการยังอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note) และอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย

ส่วนสัดส่วนของการลงทุนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ สิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ประกอบด้วย 1. ลงทุนในหน่วยลงทุนยูบีเอส ลักเซมเบอร์ก 97.86% 2. ตั่วสัญญาใช้เงิน 1.35% 3. เงินฝากธนาคาร 0.83% และ 4. หนี้สินอื่นๆ 0.04%
กำลังโหลดความคิดเห็น