T-CASH โตไม่หยุด "บลจ.ธนชาต"ยื่นขอก.ล.ต.ไฟเขียวอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนรอบใหม่อีก 5,000 ล้านบาท ดันมูลค่าโครงการขยายตัวเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท ผู้บริหารประเมินภาวะเศรษฐกิจเมืองไทย การลงทุนในประเทศมีความน่าสนใจเพิ่มจากนโยบายรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มของอินฟราสตักเจอร์ และกลุ่มพลังงาน เพราะเป็นที่หมายตาของนักลงทุนต่างชาติ
นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยถึงกองทุนเปิดธนชาตบริหารเงิน T-CASH ว่าในขณะนี้ บริษัทได้ดำเนินการขอจดทะเบียนเพิ่มเงินทุนอีก 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 35,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทุนของโครงการทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับจดทะเบียนเพิ่มเงินทุนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง ของกองทุนเปิดธนชาตบริหารเงิน T-CASH คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 3.24% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 1.76% ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 3.06% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 1.72% ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 3.57% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 2.04% และผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 3.85% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 2.47%
โดยมีสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 25 มกราคม 2551 ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 36.15% หุ้นกู้สถาบันการเงิน 7.78% หุ้นกู้ภาคเอกชน 4.54% พันธบัตรรัฐบาล ที่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง 1.18% รวมทั้งสิ้นเป็น 49.64%
ขณะที่สัดส่วนของผู้ออกหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน 5 อันดับแรก ประเภทหุ้นกู้และพันธบัตร ณ วันที่ 25 มกราคม 2551 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ได้แก่ 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 35.96% 2. ธนาคารดอยซ์แบงก์ 4.32% 3. บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 3.54% 4.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 1.45% 5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 1.27% รวมทั้งสิ้น 46.54%
ส่วนประเภทตั๋วแลกเงินนั้นที่กองทุนเข้าไปลงทุน ประกอบด้วย ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด 9.92% , บริษัท สยามพาณิชย์ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 5.90% , บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 5.10% , ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น 4.79% , ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) 3.10% รวมทั้งสิ้น 28.82%
ทั้งนี้ กองทุนเปิดธนชาตบริหารเงินมีนโยบายลงทุนในเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ ธุรกรรมทางการเงิน หรือตราสารทางการเงินอื่นใด ที่มีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนหรือมีอายุสัญญาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลงทุน และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่จะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนและตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร โดยการลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ (Capital Gain) ที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมคำนวนเพื่อเสียภาษีเงินได้ และที่ผ่านมา บลจ.ธนชาต ได้ทำการเพิ่มทุนกองทุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจใประเทศขณะนี้ว่า ในปี 2551 ธุรกิจการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากอัตราเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้น ซึ่งอัตราการเติบโตในปีนี้อาจจะไม่คึกคักเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศแล้วจะมีความน่าสนใจมากว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายที่จะกระจายรายได้ในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของอินฟราสตรัคเจอร์ และกลุ่มพลังงานยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติอยู่
สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปีนี้ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สาเหตุเพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ทรงตัวและในอนาคตอาจจะมีการปรับลดให้ต่ำลงได้อีก ทั้งนี้ผู้ฝากเงินหรือผู้มีเงินออม ยังคงต้องมีการหาช่องทางใหม่ ๆ ให้กับตัวเองเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น บลจ. ที่มีแม่แบงก์ยังคงต้องหาช่องทางใหม่ ๆ ไว้รองรับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ นั้นสำหรับฐานลูกค้ากลุ่มแบงก์นั้นยังคงต้องมีอัตราความเสี่ยงที่น้อยด้วย
ขณะเดียวกันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีการทรงตัวอยู่นั้นมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับลดลงไปอีก ดังนั้นในปีนี้กองทุนตราสารหนี้ยังคงเป็นกองทุนที่ยังได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีอัตราความเสี่ยงน้อย อีกทั้งยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในธนาคาร รวมถึงการลงทุนในหุ้นยังมีโอกาสของการเติบโตได้ นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็มีความน่าสนใจในปีนี้ด้วยเช่นกัน เพราะกองทุนสามรถให้ผลตอบแทนที่สูงแก่นักลงทุน แต่ปัจจัยความเสี่ยงก็ย่อมมีมากด้วยเช่นกัน
ส่วนปัญหาเรื่องมาตรการ 30% นั้น บลจ. ธนชาต มองว่า เท่าที่เห็นในขณะนี้รัฐบาลได้มีการคลี่คลายหรือผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวลงไปหลายจุดจากเดิม แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการยกเลิกหรือไม่นั้น ซึ่งบริษัทฯ เองมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรือปัญหาที่รุนแรงมากนัก