xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวงคลอด2กองซีรีส์ธนรัฐเน้นลงทุนในตราสารหนี้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.บัวหลวง เข็น "บัวหลวงธนรัฐ 24/08 "และ "บัวหลวงธนรัฐ 25/08" เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศ หลังประเมินการลงทุนนอกประเทศมีความผันผวนสูง มูลค่ารวมโครงการ 8,000 ล้านบาท เสนอขาย IPO วันนี้จนถึง13 ตุลาคม
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดโลกขณะนี้ ทำให้บริษัทมองว่าตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศค่อนข้างที่จะมีความผันผวนสูง จึงทำให้บริษัทมองว่าการลงทุนภายในประเทศจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่มีความปลอดภัยกว่าการลงทุนในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันในระหว่างวันที่ 3 - 13 ตุลาคม 2551นี้ บริษัทจะมีการเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 24/08 (B24/08) และ กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 25/08 (B25/08 ) ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่เสนอขายในประเทศ โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนประเภทในซีรีย์ของกองทุนธนรัฐ ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในเมืองไทย โดยที่กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 24/08 จะมีอายุการลงทุน 2-4 เดือน และกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 25/08 มีอายุโครงการ 4-6 เดือน

"สำหรับกองทุนรวมในซีรีส์บัวหลวงธนรัฐ ทุกๆกองทุนที่บริษัทออกมาเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กำหนดระยะเวลาการลงทุน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1ปี ซึ่งกองทุนรวมธนรัฐของเราต่างได้รับผลตอบรับจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอด และเนื่องจากความผันผวนในตลาดต่างประเทศทำให้บริษัทได้ชะลอการออกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศออกไปก่อน" นายวศิน กล่าว

ทั้งนี้กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 24/08 (B24/08) เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ โดยมีขนาดโครงการ 3,000 ล้านบาท ล้านบาท มีอายุโครงการ ประมาณ 2 เดือน ไม่เกิน 4 เดือน นับตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม ซึ่งได้รับอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551 ขณะที่กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 25/08 (B25/08 ) เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ โดยมีขนาดโครงการ 5,000 ล้านบาท อายุโครงการ ประมาณ4 เดือน ไม่เกิน6 ดือน นับตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม ซึ่งได้รับอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551

โดยกองทุนทั้ง 2 กองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยหรือพันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน และหรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นด้วยการทำธุรกรรมการซื้อตราสารแห่งหนี้ภาครัฐกับสถาบันการเงิน โดยมีสัญญาที่จะขายคืนตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวตามวันที่กำหนดในสัญญา และกองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ( Derivatives ) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ( Structured Note )
กองทุนดังกล่าว เหมาะสมกับเงินลงทุนส่วนที่ต้องการความมั่นคง และความเสี่ยงต่ำ เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน โดยไม่ต้องไปลงทุนในหุ้น และเงินส่วนนี้จะต้องอยู่ในกองทุนเป็นระยะเวลาเท่ากับอายุกองทุน โดยลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วยลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น