บลจ.ธนชาต หวังพลิกวิกฤตการเงินแดนมะกันเป็นโอกาส เล็งตั้งกองเอฟไอเอฟ ลุยหุ้นกลุ่มไจแอนด์แคปในสหรัฐ คาดเปิดระดมทุนได้ช่วงไตรมาส 4 หรือ ไตรมาส 1 ปีหน้า ระบุรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นก่อน ด้านกองทุน T-GlobalBond เผยกองทุนหลักในต่างประเทศ เตรียมซื้อพันบัตรเพิ่มอีก 10% โดยเน้นซื้อตราสารหนี้ที่มีปัญหาเป็นหลัก ในขณะที่เอยูเอ็มสิ้นปีนี้ ยังคงเป้าเดิม 1.2 ล้านบาท ลุ้นไตรมาสสุดท้ายได้อานิสงส์จากอาร์เอ็มเอฟ-แอลทีเอฟ
นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) เพิ่มอีก 1 กองทุน โดยในเบื้องต้น บริษัทมองว่าน่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาหรือกองทุนยูเอส โดยมีนโยบายการลงทุนในหุ้นซึ่งจะเน้นหุ้นกลุ่มไจแอนด์ แคป ที่นักลงทุนรู้จักเป็นอย่างดี และมีการลงทุนอยู่ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ร้านสตาร์บัค เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นก่อน โดยคาดว่าน่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ หรืออาจจะเป็นไตรมาส 1 ของปี 2552 ทั้งนี้ กองทุนยูเอสนั้น จะจ้างผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศเข้ามาบริหารกองทุนให้ ซึ่งการลงทุนของกองทุนนั้น จะเข้าไปเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งคัดเลือกหุ้นเข้ามาในพอร์ตไม่เกิน 30 ตัว
ส่วนกองทุนเปิดธนชาตโกลบอล บอนด์ ฟันด์ (T-GlobalBond) ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศนั้น กองทุนหลักในต่างประเทศนั่นคือ กองทุน Templeton Global Bond Fund ที่จดทะเบียนในประเทศลักเซมเบริ์กนั้น ขณะนี้ทางกองทุนแม่ มีแผนที่จะเพิ่มกรอบการลงทุนจากเดิม 5% เพิ่มขึ้นอีกเป็น 10% โดยอาศัยช่องทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ที่จะเข้าไปซื้อพันธบัตร และตราสารหนี้ที่มีปัญหา เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการลงทุนอีกทางหนึ่ง
สำหรับกองทุนเปิดธนชาตโกลบอล บอนด์ ฟันด์ จดทะเบียนกองทุนในวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ด้วยมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนย้อนหลัง ณ วันที่ 19 กันยายน 2551 ย้อนหลัง 3 เดือน 1.06% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน 1.00% ย้อนหลัง 6 เดือน -3.14% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน 2.51% และผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน 1.91% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน 6.06% ขณะที่สัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2551 แบ่งออกเป็น พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 7.86% , เงินฝากและอื่น ๆ 1.42% และหน่วยลงทุนในต่างประเทศ 90.72%
นอกจากนี้ ผู้ออกหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2551 ได้แก่ Templeton Global Bond Fund 86.85% , Western Asset Us Money Market Fund 3.88% และธนาคารแห่งประเทศไทย 7.86%
นายบุญชัย กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายในการเพิ่มทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) ที่ตั้งไว้ 120,000 ล้านบาทในช่วงต้นปี 2551 นั้น คาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้า โดยปัจจุบันบริษัทมีเอยูเอ็มอยู่ที่ 94,000 ล้านบาท โดยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนั้น คาดว่านักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลยังเข้ามาช่วยสนับสนุนการลงทุนของสองกองทุนดังกล่าวจากเดิม 300,000 บาท เป็น 500,000 บาท รวมถึงกองทุนเปิดธนชาติตลาดเงิน (T – MONEY) และกองทุนเปิดธนชาตบริหารเงิน (T-CASH) ที่นักลงทุนจะเข้ามาพักเงินไว้ หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนอยู่ และรอการหาช่องทางใหม่ๆ ในการลงทุนต่อไปด้วย
ส่วนเรื่องการเมือง หลังจากที่ได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีรัฐบาลเป็นตัวเป็นตนเข้ามาบริหารประเทศ และทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจนั้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนกับนโยบายที่ยังคงค้างคาต่อรัฐบาลชุดก่อนให้มีการดำเนินการให้ราบรื่นต่อไป