xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอะไรในวิกฤติการณ์ทางการเงิน ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรินทร์ สุวรรณเตมีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-ธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ. ทิสโก้


หลังจากที่ "ของไทย” ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทย พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ตราสารหนี้ไทยถูก ”ของนอก”เบียดตกเวทีการลงทุนไปพักใหญ่ ดูเหมือนวันนี้ ความน่าสนใจของ ”ของไทย” จะกลับมาอีกครั้ง ด้วย 2 ปัจจัยหลักดังนี้

1.RISK – ความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร : เมื่อวิกฤติซับไพรม์เริ่มลุกลามจากวงการผู้ปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน มายังบรรดา Investment Bank ชื่อดังผู้มีธุรกรรมเกี่ยวเนื่องกับตราสารหรือบริษัทที่มีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในตราสารประเภท ECP ก็ชักไม่น่าสนใจ เพราะเงื่อนไขการได้รับคืนเงินต้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายคืนของผู้ออกตราสารซึ่งล้วนเป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศที่อยู่ไกลหูไกลตานักลงทุนบ้านเรา จนยากที่จะรู้ได้ว่าใครมีเอี่ยวกับธุรกรรมเจ้าปัญหาอยู่บ้าง ยิ่งเมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมาโดนซ้ำเติมด้วยการยื่นแผนเข้าสู่กระบวนการล้มละลายของ Lehman Brothers Holding Inc. แล้ว ถ้าใครยังอยากลงทุนใน ECP ช่วงนี้คงต้องยกย่องให้เป็นผู้กล้า ครั้นจะหนีความเสี่ยงภาคเอกชนมาลงทุนในตราสารภาครัฐ อย่างพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤติซับไพรม์น้อย และมีอันดับความน่าเชื่อถือดี ก็กลับมาเจอความไม่แน่นอนในด้านอัตราแลกเปลี่ยน พอจะทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้าเพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็กลัวความเสี่ยงจากบริษัทคู่สัญญาซึ่งก็เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศอีกนั่นแหละ ทั้งที่ในภาวะปรกติการทำสัญญาดังกล่าวกับคู่ค้าที่เป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ มีอับดับความน่าเชื่อถือดีก็เป็นเรื่องที่ปลอดภัยสมเหตุสมผล แต่ในสถานการณ์ทุกวันนี้ อะไรๆ ก็ดู “ไม่แน่” ไปเสียหมด หลายท่านจึงสบายใจกว่าหากสามารถละความไม่แน่นอนเหล่านี้ไปได้ คิดได้อย่างนี้แล้วก็มามองหาอะไรไทยๆ ลงทุนกันดีกว่า

2.RETURN :ด้วยความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนจึงเริ่มหันมามองพันธบัตรรัฐบาลไทยอีกครั้ง เพราะมีอัตราผลตอบแทนที่ใช้ได้ ปลอดภัยเพราะเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ไม่มีความเสี่ยงภาคเอกชนมาเกี่ยวข้อง และการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาก็ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (ต่ำกว่า 1 ปี) ยังยืนอยู่ที่ระดับ 3.8% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรฯ ในช่วงอายุอื่นๆ (Graph 1) ก็จะพบว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรฯ ช่วงอายุ 1 -6 เดือน ณ ปัจจุบันดูจะสูงกว่าอัตราที่ควรจะเป็นอยู่พอสมควรทีเดียว

ดังนั้นหากมีเงินที่รอลงทุนอยู่ ก็ควรพิจารณาดูว่าสามารถลงทุนต่อเนื่องได้นานแค่ไหน หากแผนการเงินไม่แน่นอน ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนบริหารเงิน (Cash Management Fund หรือ Money Market Fund) ที่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน ซึ่งเน้น ”ความปลอดภัยของเงินต้น” โดยเลือกกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลล้วนๆ ไม่มีตราสารหนี้ภาคเอกชนปนอยู่ หรือหากทราบว่าจะไม่ใช้เงินจนถึงปีหน้าก็เลือกกองทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนยาวขึ้น เช่น อายุประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้ครบกำหนดรับเงินคืนในช่วงต้นปี 2552 เผื่อปีหน้าฟ้าใหม่มีโอกาสการลงทุนอะไรดีๆตอนต้นปี จะได้ไม่พลาด

สำหรับตลาดหุ้นหากคุยกันเรื่อง valuation ก็ต้องบอกว่าตอนนี้หุ้นไทยและหุ้นเอเชียถูกเหลือเกิน ปัจจัยพื้นฐานในภูมิภาคยังดีอยู่ รอก็แต่ Fund Flow ซึ่งคาดว่าน่าจะกลับมาเร็วๆนี้ ส่วนการที่ธนาคารกลางของสหรัฐได้ออกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ มาตรการรับซื้อหนี้เสียออกจากระบบสถาบันการเงิน ประกอบกับเงินดอลล่าร์หสรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงก็ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นเอเชียทั้งสิ้น ทั้งนี้พึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนในหุ้นย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตามกฎ High Risk – High Return  หากตัดสินใจจะลงทุนในหุ้นก็ควรเป็นไปด้วยเหตุและผล พร้อมทั้งสามารถลงทุนในระยะกลางถึงยาวได้ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็มีอยู่มากทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น