xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนขายกอง ECP เซ่นเฟดลด ดบ.บลจ.ปรับกลยุทธ์หันลงทุนในประเทศแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – กองทุน ECP โดนพิษเฟดขยับดอกเบี้ยลง 0.75% "ทหารไทย-บัวหลวง" เลื่อนขายกองทุนไม่มีกำหนด พร้อมหารือด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์ใหม่ เล็งปรับกลยุทธ์หันลงทุนตราสารหนี้ในประเทศแทน เหตุผลตอบแทน ECP ขยับตามจนไม่น่าสนใจแล้ว ด้าน "เอวายเอฟ" ดิ้นสู้ ขาย "อยุธยาตราสารหนี้พลัส 3M1" ต่อ ระบุประเมินเฟดลดดอกเบี้ยเข้าไปในผลตอบแทนแล้ว ผู้จัดการกองทุนชี้ แบงก์ชาติถูกกระตุ้นให้ปรับดอกเบี้ยอาร์/พีตาม

นางสาวณฤดี จันทร์แจ่มจรัส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทมีแผนที่จะทำการเปิดขายกองทุนเปิดทหารไทย ไพร์ม ฟันด์ 6M รุ่นที่ 2 และกองทุนเปิดทหารไทยไพร์ม ฟันด์ 6M รุ่นที่ 3 ในระหว่างวันที่ 23 – 29 มกราคม นี้ แต่หลังจากที่คืนวันที่ 22 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วในอัตรา 0.75% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้กระทบต่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ของทั้งสองกองทุนดังนั้นบริษัทจึงต้องทำการระงับการเปิดขายของทั้งสองกองทุนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรับลดลงที่รุนแรงมาก จึงทำให้บริษัทต้องระงับการออกกองทุนไปอย่างไม่มีกำหนดการที่แน่นอน เนื่องจากการปรับลดลงครั้งนี้จะทำให้อัตราผลตอบแทนของกองทุนนั้นได้น้อยมากหรือแทบไม่เหลือเลย ดังนั้นบริษัทจึงต้องรอดูสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าในอนาคตจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงไร ซึ่งถ้าอัตราผลตอบแทนของกองทุนยังคงได้รับผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวอยู่ บริษัทอาจจะต้องเปลี่ยนแผนการลงทุนในต่างประเทศมาเป็นการลงทุนในประเทศแทน

ขณะที่นายกัมพล จันทรวิบูลย์ ผู้จัดการกองทุน บลจ. ทหารไทย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า บริษัทเตรียมหารือในที่ประชุมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากการปรับอัตราลดลงอย่างกะทันหันลงอีก 0.75% ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนพอสมควร ทั้งนี้ ในการประชุมของเฟดที่จะมีขึ้นอีกครั้งตามรอบในวันที่ 31 มกราคมนี้ คาดว่าเฟดเองจะมีการปรับลดลงอีกประมาณ 0.25% - 0.50%

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐปรับตัวลดลงอย่างไม่คาดคิดลงอีก 0.75% ส่งผลให้บริษัทต้องทำการระงับการเปิดขายกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2/08 ที่ก่อนหน้านี้ได้ทำการประกาศเปิดขายไว้ในวันที่ 23 – 29 มกราคม 2551 อย่างไม่มีกำหนด

"การที่เราเลื่อนขายกองทุนออกไปก่อน เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบ เพราะในขณะนี้ จำนวนนักลงทุนยังเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าวไม่มากนัก เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเพิ่งเริ่มทำการเปิดขายช่วงแรกๆ เท่านั้น"นายวศินกล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาซับไพรม์ที่ยังคงมีความผันผวนอยู่ค่อนข้างมากในขณะนี้ บริษัทจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดขายกองทุนออกกไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรอดูสถานการณ์ให้แน่ชัดมากขึ้นว่าจะไปในทิศทางใด เนื่องจากกองทุนดังกล่าวลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่จะได้รับของกองทุนดังกล่าว ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเช่นนี้ ส่งผลให้การลงทุนในอนาคตต้องมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อสภาวะการลงทุนมากขึ้น

ส่วนการพิจารณาดอกเบี้ยของเฟดตามรอบปกติในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะยังคงไม่มีมาตรการปรับลดลงอีก เนื่องจากเพื่อปรับลดลงไป แต่อย่างไรก็ตามยังมีนักวิเคราะห์หลายรายที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกในสัปดาห์หน้าประมาณ 0.25%

AYFขายต่อเหตุประเมินล่วงหน้าแล้ว

นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 3M1 ที่บริษัทจะเปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 22-29 มกราคมนั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เรากำหนดว่าจะจ่ายให้ผู้ลงทุนที่ 2.7% ต่อปีนั้น เป็นการคำนวนเผื่อในกรณีที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปด้วยแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีปัญหา และเชื่อว่ากองทุนดังกล่าวจะสามารถจ่ายผลตอบแทนได้ 2.7% เช่นเดิม

ทั้งนี้ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดลงอีก 0.75% นั้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ประเภท ECP (Euro commercial Paper) ที่กองทุนไปลงทุนนั้นลดลงบ้าง แต่ตัวอัตราดอกเบี้ยสวอปยังปรับตามไม่มาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวรับข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบวันที่ 31 มกราคมไปก่อนล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยสวอปที่ปรับลดลงถึง 1% กว่าๆ จากช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 0.75% ในครั้งนี้ แต่การประชุมที่จะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้ก็น่าจะมีการปรับลดลงอีก เพราะจากสถิติก่อนนหน้านี้ หากเฟดมีการประชุมกำหนดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินครั้งใด ในการประชุมตามรอบปกติครั้งต่อไปก็จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 0.25-0.5% ซึ่งภาวะเช่นนี้ ทำให้มองว่าการลงทุนในทุกหลักทรัพย์จะผันผวนตลอดทั้งปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) เพราะทั้ง 3 ตลาดแยกจากกันไม่ได้อยู่แล้ว

"ส่วนตัวแล้วมีข้อสังเกตุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในอัตราที่ค่อนข้างสูงเช่นนี้ เฟดน่าจะข้อมูลอะไรบางอย่างที่รู้แต่นักลงทุนไม่รู้ ทำให้ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาให้อยู่หมัด ขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการยกธงขาวยอมรับแล้วว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังถอถอยจริง"นายอาสากล่าว

สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ นายอาสากล่าวว่า จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ จะเป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) นำมาพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศได้อีก จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าจะนิ่งไปจนถึงช่วงกลางปี อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยของธปท. อาจจะยังไม่ทำในรอบการประชุมอันใกล้นี้ และจะไม่รุนแรง โดยมองว่าอาจจะขยับลงมาได้อีกประมาณ 0.25%

ปรับมุมมองการลงทุนใหม่

นายวสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอทเซทพลัส จำกัด กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อีก 0.75% ทำให้การลงทุนเกี่ยวกับตราสารหนี้ต้องมีการปรับมุมมองกันใหม่ หลังจากที่เคยมีการคาดการณ์ว่าอัตรดอกเบี้ยภายในประเทศจะมีโอกาสปรับตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งการประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ เนื่องจากครั้งสุดท้ายที่มีการประชุมแบบนี้คือในปี 2001 และนักลงทุนเองก็ไม่คิดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเยอะถึงขนาดนี้

“การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นเรื่องเซอร์ไพร์ จนทำให้ต้องเปลี่ยนมุมมองในการลงทุนใหม่ ซึ่งในช่วงสิ้นเดือนนี้เห็นว่าน่าจะมีการปรับลดอีกครั้งประมาณ 0.50% แต่คงไม่สามารถแก้ปัญหาซัพไพรม์ได้ เพราะปัญหานี้รุนแรงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งนักลงทุนก็ยังมีความกังวลอยู่มาก และการดึงความความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมายังเป็นตัวแปรสำคัญของการแก้ปัญหาอยู่”นายวสุกล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัทในตราสารหนี้คงจะต้องปรับเพิ่มระยะเวลาของตราสารหนี้ที่จะเข้าไปลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งตราสารหนี้ในทวีปยุโรปอย่าง ECP เองคงจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน และกองทุนที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ประเภทนี้ก็ต้องพิจารณาให้ดี เนื่องจาก ECP บางตัวได้มีการอิ่งอัตราดอกเบี้ยกับประเทศสหรัฐทำให้ได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยคาดว่า หากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศก็จะมีแนวโน้มปรับลงด้วย เนื่องจากกนง.จะต้องรักษาระยะห่างของอัตราดอกเบี้ยไม่ให้มากเกินไปนัก โดยการลงทุนในตราสารหนี้ประเทศไทยก็จะต้องมีการปรับในเรื่องของระยะเวลาเช่นกัน นอกจากนี้ความหน้าเชื่อถือของตราสารหนี้จะเป็นอีกเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณา ซึ่งผู้ออกตราสารในประเทศเองอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพไพรม์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้เกิดการผิดชำระหนี้ได้

นายวสุ กล่าวอีกว่า แนวโน้มของกองทุนที่คาดว่าน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลงนั้น คงจะเป็นกองทุนที่เข้าไปลงทุนใน ตราสารหนี้ประเภท เครดิต ลิงก์ โน้ต ซึ่งจะอิงผลตอบแทนกับพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลในปัญหาซัพไพรม์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับ ECP บางตัวได้

นายนที ดำรงค์กิจการ ผู้จัดการกองทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในธุรกิจกองทุนตราสารหนี้ ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ว่า เรื่องดังกล่าวเหมือนการส่งสัญญานให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้จะปรับตัวลดลงทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย เพราะคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเฟด ซึ่งจะภาวะเช่นนี้จะยังคงอยู่ไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2551 นี้

“การที่เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยลงขนาดนี้ เรียกว่าเป็นการฉีดยาขนานใหญ่เพื่อแก้ปัญหาซับไพรม์ ที่ส่งผลออกมารุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการไขปัญหาดังกล่าว โดยเราต้องรอดูว่าภายใน 6 เดือนหลังจากเฟดใช้วิธีนี้แล้ว ปัญหาซับไพรม์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีดังที่หลายคนคาดหวังไว้หรือไม่ แต่สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวแล้วเชื่อปัญหาดังก่าวจะต้องมใช้เลาอีกสักพักหนึ่ง”นายนทีกล่าว

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ในประเทศจะปรับตัวลดลงอีกประมาณ 0.2 – 0.3% แต่จะยังดีกว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในตลาดต่างประเทศที่จะมีการปรับตัวลดลงมากกว่า ดังนั้นหากเข้าลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศช่วงนี้ ผลตอบแทนที่จะได้รับกลับมาภายหลังเปลี่ยนค่าเงินกลับเป็นสกุลบาท จะได้เหลือแค่เพียงเล็กน้อย หรือลดลงไปไม่เหมือนในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุน บลจ.นครหลวงไทย ยืนยันว่า สำหรับกองทุนตราสารหนี้ที่เข้าไปลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศช่วงก่อนหน้านี้จะไม่เกิดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ เพราะเป็นการลงทุนที่มีรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ตายตัว ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่สร้างวิตกกังวลแก่ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนแน่ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในรอบใหม่หลังจากนี้ แนะนำว่าควรที่จะรอดูสถานการณ์ หรือรอบระยะเวลาในการลงทุนก่อนตัดสินใจอีกครั้ง

สำหรับ บลจ.นครหลวงไทย นั้น ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ บริษัทจะเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ประเภท (โรลโอเวอร์)โดยแต่เดิมกองทุนดักล่าวสามารถลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์กองทุน แต่ทางบริษัทจะปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศแทน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะอัตราผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ของไทยยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ โดยตราสารหนี้ระยะสั้น 3 เดือนจะให้ผลตอแทนอยู่ที่ประมาณ 2.5 – 2.8% ขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะกลางจะอยู่ที่ประมาณ 3%
กำลังโหลดความคิดเห็น